วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

ขอเชิญชมภาพยนตร์ "Sepet: ตลกร้ายกับอคติเรื่องเชื้อชาติและศาสนาในมาเลเซีย"


วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553เวลา 17.00 – 19.00 น. ณ ห้องเรวัต พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


ขอเชิญชมภาพยนตร์ในงานเปิดบ้านศิลป์อุษาคเนย์ เพื่อความเข้าใจในเพื่อนบ้านและแผ่นดินของเรา

Film Show for Understanding Asean and Make Love not War with Our Neighbors


ฉายภาพยนตร์มาเลเซีย/ Malaysian Film
เรื่อง
"Sepet: ตลกร้ายกับอคติเรื่องเชื้อชาติและศาสนาในมาเลเซีย"



Malaysian Film: Sepet

03 February 2010

Screening will take place at Rewat Buddhinan Room, U2 floor, Pridi Panomyong Library,Thammasat University, Tha Prachan campus, from 5 to 7 pm.


วิทยากร / Commentator : อ.เบเนดิก แอนเดอร์สัน / Prof. Benedict AndersonTrailer : http://www.youtube.com/watch?v=SfSjQfhhjsQ


ชมฟรี ! (ไม่ต้องเสียบัตรผ่านประตู แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาเข้าชมภาพยนตร์)
---------------------------------


ติดต่อ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 02-6132672 หรือ http://seasfilmshow.blogspot.com และ http://seas.arts.tu.ac.th/

For more information, please contact Southeast Asian Studies Program, Faculty of Liberal Arts Thammasat University at 02-6132672 or http://seasfilmshow.blogspot.com and http://seas.arts.tu.ac.th/


วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

ภาพบรรยากาศงาน SEAs Film Show 6th : My Dear ASEAN













































BAGONG BUWAN จันทร์ดวงใหม่ ในวันที่ไม่มีอคติและกระบอกปืน

ผู้เขียน : สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ อาจารย์พิเศษ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
---4 ม.ค. 2553---



ภาพยนตร์สัญชาติฟิลิปปินส์เรื่องนี้มีชื่อที่แปลเป็นไทยว่า "จันทร์ดวงใหม่" เป็นผลงานการกำกับของ Marilou Diaz-Abaya1 โดยออกฉายหลังจากที่นายโจเซฟ เอสตราดา (Joseph Estrada) ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ได้ประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อกวาดล้างกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF-Moro Islamic Liberation Front) บนเกาะมินดาเนา ทางภาคใต้ของประเทศ ความขัดแย้งที่ร้อนระอุและนำไปสู่การสู้รบที่รุนแรงของทั้งสองฝ่ายนั้น สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชากรในพื้นที่อย่างมาก ฉากในภาพยนตร์ฉายให้เห็นถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของชาวมุสลิมโมโร (Moro)2 ในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน ชีวิตของผู้คนที่นั่น คือ การที่ต้องอพยพหนีการสู้รบอยู่ตลอดเวลา นอกเหนือไปจากความขัดแย้งในแง่ของการใช้ความรุนแรงแล้ว ความขัดแย้งในเรื่องอัตลักษณ์และอุดมการณ์ชาตินิยมของชาวมุสลิมโมโรในฟิลิปปินส์ ก็เป็นเรื่องที่เข้มข้นไม่แพ้กัน
.
.


โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan ภาพยนตร์เพื่อสันติภาพบนเกาะมินดาเนา


ตัวละครเอกในเรื่อง Ahmad (แสดงโดย Cesar Montano พระเอกขวัญใจตลอดกาลของชาวฟิลิปปินส์) แพทย์ชาวมุสลิมโมโร ผู้มีอาชีพการงานดีในมะนิลา มีพี่ชายเป็นสมาชิกของกลุ่ม MILF จำต้องเดินทางกลับมายังบ้านเกิด หลังจากที่ลูกชายของเขาเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรง การกลับมาของ Ahmad เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เขาร่วมเผชิญชะตากรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ ระหว่างการเดินทางเพื่อนำพาพี่น้องให้อยู่รอดปลอดภัยนั้น ก็เกิดคำถามมากมายถึงตัวตนของเขาเองในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้มีหน้าที่รักษาชีวิตมนุษย์ แต่จำต้องก้าวผ่านความคับแค้นในจิตใจที่กลายเป็นสิ่งที่รบกวนเขาตลอดเวลา Ahmad ตัดสินใจจับปืนเพื่อสังหารทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ที่ทารุณชาวบ้านผู้ไร้ซึ่งอาวุธและข่มเหงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมโมโร ในขณะเดียวกันด้วยสัญชาติญาณของนายแพทย์ เขาตัดสินใจที่จะช่วยชีวิตนายทหารของกองทัพคนหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นศัตรูขั้วตรงข้ามของพี่ชายตัวเอง Ahmad ได้เรียนรู้ว่า ที่สุดแล้วในภาวะสงครามไม่มีใครเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ทุกคนต่างสูญเสีย แต่ผู้ที่ใฝ่ฝันถึงสันติภาพเท่านั้นจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะนั้นไป

"จันทร์ดวงใหม่" ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan เป็นตัวแทนของการเริ่มต้น ช่วงเวลาใหม่ของเดือน เดือนที่คาดหวังว่าสันติภาพจะกลับมาสู่ดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง ขณะเดียวกัน "จันทร์ดวงใหม่" ยังหมายถึงความเข้าใจใหม่ต่อชาวมุสลิม อันปราศจากอคติเดิมๆ ที่ผู้กำกับพยายามจะสื่อสารกับผู้ชม

เด็กกับเมล็ดพันธุ์ความขัดแย้ง

จะว่าไปแล้ว Bagong Buwan อาจจะเป็นภาพยนตร์ฟิลิปปินส์เพียงไม่กี่เรื่อง ที่กล้าหาญพอที่จะพูดถึงประเด็นความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนา ผ่านมุมมองของชาวมุสลิมโมโร ในอดีตที่ผ่านมา การเล่าเรื่องชาวมุสลิมโมโรบนแผ่นฟิล์มฟิลิปปินส์นั้น จะเป็นลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในการใช้กำลังเพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธบนเกาะมินดาเนา ซึ่งภาพลักษณ์ของชาวมุสลิมโมโรเหล่านั้น ก็จะเป็นลักษณะของผู้ร้าย (สะท้อนอคติที่แอบแฝงในหมู่คนฟิลิปปินส์ส่วนกลางได้เป็นอย่างดี) โดยตัวของอดีตประธานาธิบดี Joseph Estrada เองก็เคยสวมบทบาทเป็นนักรบกลุ่มติดอาวุธมุสลิมโมโรมาแล้ว เมื่อครั้งที่เขายังเป็นดาราภาพยนตร์ผู้โด่งดังในช่วงทศวรรษที่ 70

ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามที่จะเรียกร้องให้ผู้คนในชาติ หันมาทบทวนมายาคติและอคติที่คนต่างชาติพันธุ์ต่างศาสนามีต่อกัน ตั้งแต่ตัวนักแสดงที่ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์และมาจากส่วนกลาง ไปจนถึงการใช้ตัวละครที่เป็นเด็กและวัยรุ่นเป็นสื่อกลางของการทำความเข้าใจกันระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม


หนูน้อย Francis กับ Rashid คู่หู ห้องเรียนสันติภาพที่พวกเขาเป็นตัวแทนแห่งการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างคนต่างชาติต่างศาสนา

ฉากเริ่มของภาพยนตร์เผยให้เห็นถึงเด็กๆชาวมุสลิมโมโรที่แขนขาพิการอันเป็นผลพวงจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่ จากนั้นก็เดินเรื่องด้วยการแนะนำให้รู้จักกับ Francis เด็กน้อยชาวคริสต์ที่เกิดและเติบโต ณ ศูนย์กลางของอำนาจรัฐ แต่พลัดหลงเข้าไปอยู่ในกลุ่มชาวบ้านมุสลิมโมโร และร่วมผจญชะตากรรมการหนีภัยสงคราม ตัวละครตัวนี้ได้สะท้อนถึงความพยายามที่จะกำจัดอคติในใจชาวคริสต์ได้เป็นอย่างดี ผู้กำกับเลือกที่จะใช้เด็กเป็นทูตสันติภาพในการสลายอคติระหว่างคนต่างชาติศาสนา สิ่งที่ Francis ประสบก็คือ ชาวมุสลิมโมโรที่เขาเคยถูกสั่งสอนมาว่า เป็นพวกไม่น่าไว้วางใจ เป็นพวกไร้การศึกษานั้น กลับกลายเป็นคนที่ช่วยชีวิตเขาและเลี้ยงดูราวกับเป็นลูกแท้ๆ อีกทั้งยังปลูกฝังค่านิยมแห่งสันติภาพให้กับเขา Francis ได้ผ่านพบประสบการณ์แห่งการพลัดพราก ความตาย และการเข่นฆ่า เขาได้เรียนรู้ว่าความรุนแรงนั้น จริงๆแล้วไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันสามารถจัดการและทำลายล้างได้กับทุกคน

ในอีกด้านหนึ่ง Rashid เด็กหนุ่มผู้จิตใจเต็มไปด้วยอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวมุสลิมโมโรด้วยการจับอาวุธขึ้นสู้ ถูกนำเสนอเป็นตัวแทนของมรดกตกทอดแห่งความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น สำหรับเขาแล้วการ "ปลดปล่อย" พี่น้องมุสลิมโมโร คือการใช้ความรุนแรงประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม เขาเลือกที่จะไม่เรียนหนังสือเพราะมองว่านั่นไม่ใช่หนทางแห่งอนาคต โรงเรียนไม่สามารถให้คำตอบเรื่องความมั่นคงในชีวิตของชาวมุสลิมโมโรได้ Rashid ปะทะคารมกับผู้เป็นอาของเขา Ahmad หลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากAhmad เห็นว่า Rashid ควรจะไปเรียนต่อในมะนิลาเพื่ออนาคตทางการศึกษา และหลุดพ้นจากบรรยากาศการบ่มเพาะความรุนแรง แต่สำหรับ Rashid แล้ว ข้อเสนอที่ถูกหยิบยื่นให้นั้นไม่ใช่แนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต เขาเห็นว่า Ahmad ผู้ที่มีโอกาสได้ไปร่ำเรียนวิชาในมะนิลา เป็นพวกละทิ้งอุดมการณ์และละทิ้งชาวมุสลิมโมโร การปะทะกันในเชิงความคิดระหว่างสองตัวละครนี้สะท้อนว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ ได้ตกตะกอนและมีอิทธิพลในการหล่อหลอมความคิดให้กับเยาวชนรุ่นหลังที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความขัดแย้งอย่างมาก พวกเขาเห็นช่องทางแห่งอนาคตค่อนข้างจำกัด และถูกทำให้เชื่อว่าการจับปืนลุกขึ้นสู้นั้นเป็นหนทางเดียวที่จะปลดปล่อยตัวเองและพี่น้องชาวมุสลิมโมโรจากความทุกข์ยากได้

ผู้หญิงและคนแก่ ภารกิจเพื่อตัวตนและประวัติศาสตร์

ท่ามกลางควันปืนและเสียงอื้ออึงของอาวุธหนักเบาในสมรภูมิรบ ภาพของนักรบกลุ่มติดอาวุธและทหารของฝ่ายกองทัพ เป็นสิ่งที่เรามักจะคุ้นชิน จนคิดไปว่า ชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่มีเพียงแค่รบและรบเท่านั้น บางครั้งทำให้เราลืมนึกถึงคนอื่นๆ ที่ไม่ติดอาวุธว่า พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

Farida ตัวละครผู้เป็นแม่ คือ ภาพสะท้อนถึงสถานการณ์ของผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้งที่น่าสนใจ สำหรับเธอแล้ว การลี้ภัยและโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อหนีภัยสงครามนั้น มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในช่วงชีวิตของเธอ ขณะที่ผู้ชายมุสลิมโมโรไปรบในแนวหน้า (หลายคนเลือกที่จะละทิ้งครอบครัวไปเลย) ผู้หญิงกลายเป็นผู้แบกภาระเลี้ยงดูสมาชิกที่เหลือในครอบครัว ตราบวินาทีสุดท้ายของ Farida เธอแสดงให้เห็นว่าหน้าที่ของผู้แสดงบทบาท "ความเป็นแม่" นั้นมีความสำคัญอย่างมากในภาวะที่ผู้คนรอบตัวกลายสภาพเป็นผู้ลี้ภัย การมีชีวิตเพื่ออยู่รอดเป็นเรื่องใหญ่ แต่การดูแลให้ผู้อื่นได้อยู่รอดนั้นสำคัญยิ่งกว่า



Farida ตัวแทนผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้ง ภาระเพื่อนำผู้คนผู้อยู่เบื้องหลังเดินก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างสันติ



Datu Ali ผู้สืบเชื้อสายจากสุลต่าน ตัวแสดงที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในเรื่อง เป็นภาพตัวแทนของความทรงจำทางประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมโมโร ศักดิ์ศรี และอุดมการณ์รวมอยู่ในตัวเขา Farida และพี่น้องผู้ลี้ภัยในเรื่อง เลือกที่จะไปบ้าน Datu Ali เพื่อลี้ภัยมากกว่าค่ายผู้ลี้ภัย พวกเขารู้สึกปลอดภัยและมั่นคงมากกว่า ในสังคมมุสลิมโมโรบนเกาะมินดาเนานั้น ผู้สืบเชื้อสายมาจากบรรดาสุลต่านในอดีตยังคงมีบารมี และได้รับการเคารพนับถือจากผู้คน

ในฐานะที่เป็นฐานที่มั่นเชิงอัตลักษณ์ที่หล่อหลอมมรดกทางประวัติศาสตร์ไว้ เพราะตั้งแต่ครั้งสเปนเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ บรรดาสุลต่านที่ครองดินแดนแสดงบทเป็นผู้นำในการต่อสู้กับสเปน สำหรับชาวมุสลิมโมโรแล้ว พวกเขาก็มีประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของตนเอง ในเรื่อง Datu Ali ได้เอ่ยถึงวีรกรรมของ Sultan Kudarat ฮีโร่ของชาวมุสลิมโมโร ผู้ซึ่งต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมก่อนที่ประเทศฟิลิปปินส์จะถือกำเนิดเสียอีก Datu Ali ในเรื่องถึงแม้จะเป็นคนสูงวัย ที่ไม่ได้ออกไปรบแนวหน้า แต่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องและรักษาอัตลักษณ์ของคนในสังคมไว้


ภาพยนตร์กับความเป็นจริงที่เป็นไป


ความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนา มักจะเป็นแง่มุมที่ได้รับการกล่าวถึงน้อยมาก เราไม่ทราบเรื่องราวความเป็นไปของผู้คนเหล่านั้นว่า พวกเขามีความสัมพันธ์ในสังคมอย่างไร ความเป็นจริงก็คือ สังคมมุสลิมโมโรนั้น มีความหลากหลายค่อนข้างสูง อย่างเช่น ตัวละครอย่าง Farida ผู้เป็นแม่ มีลูกชายสองคน คนหนึ่งเป็นนายแพทย์ ผู้มีอาชีพการงานที่ดีในมะนิลา มีความใฝ่ฝันที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยวิชาการแพทย์ และเป็นตัวแทนของชาวมุสลิมโมโรจำนวนมาก ที่จบลงด้วยการเดินทางไปหาความหวังใหม่ของชีวิตนอกแผ่นดินเกิด (ที่เต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้ง) ส่วนอีกคน Musa เลือกที่จะเป็นนักรบของกลุ่ม MILF เพื่อปลดปล่อยพี่น้องมุสลิมโมโรด้วยกระบอกปืน นอกจากนี้ยังมี Jason คนหนุ่มชาวคริสต์ ผู้ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโมโรในพื้นที่ อดีตที่ผ่านมา Jason สูญเสียบาทหลวงผู้ซึ่งเลี้ยงดูเขาจากการถูกลอบสังหารโดยกลุ่มติดอาวุธ MILF และหญิงอุ้มครรภ์ ซึ่งตัวเธอเป็นชาวคริสต์แต่มีสามีเป็นชาวมุสลิมโมโร ภาพลักษณะแบบนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างศาสนาในพื้นที่ดังกล่าวได้ค่อนข้างชัดเจน เป็นความสัมพันธ์ที่ซ้อนทับและเชื่อมโยงกันอยู่ ไม่อาจแยกออกเป็นส่วนๆได้ว่า เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม สำหรับพวกเขาแล้วความรุนแรงบนเกาะมินดาเนาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานมาหลายทศวรรษ เป็นปัญหาที่ไม่ได้รังควานแต่ชาวมุสลิมโมโรเท่านั้น แต่มันยังเหมารวมชาวคริสต์ในพื้นที่อีกด้วย เราจะพบว่าในพื้นที่ความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนานั้น ภาคประชาสังคมถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเป็นกลไกหนึ่งเพื่อลดความขัดแย้งในระดับประชาชน มีการรวมกลุ่มกันของผู้คนต่างศาสนา ทั้งในระดับผู้นำศาสนา ระดับชุมชน และประชาชน กระบวนต่างๆเหล่านี้ เรามักจะไม่ได้ยินเสียงของพวกเขาบนหน้าสื่อสักเท่าไหร่


นอกจากนี้ การฉายภาพของกลุ่มพลเรือนติดอาวุธ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Ilagas ที่ก่อตั้งโดยกองทัพเพื่อจุดประสงค์ในการช่วยทหารรักษาความปลอดภัยบุกเผาบ้านเรือนของชาวมุสลิมในฉากแรกเริ่มของภาพยนตร์ เผยให้เห็นว่าปัญหาเรื่องกลุ่มพลเรือนติดอาวุธ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่กลายเป็นอุปสรรคในการสร้างความปรองดองในระดับพลเรือน ผู้สันทัดกรณีเรื่องความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนาจำนวนมากลงความเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการติดอาวุธให้กับพลเรือน เพราะนั่นนำมาซึ่งภาวะของการไร้ความสามารถในการควบคุมการใช้ความรุนแรง ในหลายพื้นที่บนเกาะมินดาเนา ความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมร้าวลึก ก็เพราะปัญหาเรื่องกลุ่ม Ilagas นี่เอง

พื้นที่เพื่อลดความขัดแย้ง


บทเรียนแห่งความรุนแรงที่ Bagong Buwan พยายามที่จะสื่อสารกับผู้ชมนั้น ที่สุดแล้วเป็นความพยายามเรียกร้อง เพื่อลดความขัดแย้งอย่างยั่งยืน ในแง่ของการทำหน้าเป็นสื่อกลางเพื่อสร้างความเข้าใจอันดี และลดข้อขัดแย้งระหว่างคนในชาติ ซึ่งจริงๆแล้วสารที่สื่อสามารถส่งผ่านไปสู่พื้นที่ความความขัดแย้งอื่นๆบนโลกใบนี้ได้เป็นอย่างดี


จันทร์ดวงใหม่ ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan เป็นตัวแทนของการเริ่มต้น ช่วงเวลาใหม่ของเดือน เดือนที่คาดหวังว่าสันติภาพจะกลับมาสู่ดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง เพราะ “ภาวะสงครามไม่มีใครเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ทุกคนต่างสูญเสีย แต่ผู้ที่ใฝ่ฝันถึงสันติภาพเท่านั้นจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะนั้นไป”


---------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
1 เป็นผู้กำกับคนเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง Jose Rizal ภาพยนตร์เชิดชูวีรกรรมของ Jose Rizal วีรบุรุษคนสำคัญของชาติ

2 Moro เป็นคำเรียกขานชาวมุสลิมบนเกาะมินดาเนา ซึ่งครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม คำว่า Moro เดิมทีเป็นคำเรียกที่ชาวสเปนใช้เรียกชาวมัวร์ (Moor) ชาวมุสลิมที่อยู่ทางใต้ของประเทศสเปน เมื่อครั้งสเปนยึดครองฟิลิปปินส์ สเปนใช้คำนี้เรียกขานชาวมุสลิมที่อยู่ทางใต้เพื่อแบ่งแยกระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิม

ที่มา : http://www.thaiworld.org/th/thailand_monitor/answer.php?question_id=920


Long Road To Heaven : เมื่อสวรรค์ไม่มีทางลัดให้ไปถึง

ผู้เขียน : รุจิเลข เจริญชัยไพบูลย์ บัณฑิตโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

---1 ม.ค. 2553 ---

.

.

.

Long Road to Heaven ภาพยนตร์อินโดนีเซีย ที่สร้างจากเหตุการณ์จริง กรณีเหตุระเบิดสถานบันเทิงบนเกาะบาหลีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2002 อันเป็นช่วงเวลา 1 ปี 1 เดือน 1 วัน หลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/1 1 ที่ตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มก่อการร้าย “เจมาอะห์ อิสลามิยะห์” หรือ “เจไอ” (Jemaah Islamiyah-JI) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 202 คน เป็นชาวออสเตรเลีย 88 คน อินโดนีเซีย 38คน ชาวอังกฤษ 24 คน ชาวอเมริกัน 7 คน และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ อีก 47 คน นับเป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย



“ศาสนาอิสลามที่แท้จริงนั้นศรัทธาในสันติภาพ ผู้ที่ทำการเลวร้ายนั้นไม่ได้เข้าใจในอิสลามที่แท้จริง .. . มันไม่มีทางลัดไปสู่สวรรค์หรอก”



เนื้อเรื่องฉายภาพเหตุการณ์ 3 ช่วงสลับกันไปมา ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ คือ ช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ก่อการประชุมกันเพื่อเลือกหาสถานที่ที่จะทำการ ช่วงเวลาในวันเกิดเหตุที่หญิงสาวชาวอเมริกันผู้เสียคู่รักในเหตุการณ์ 9/11 หลบมาพักใจบนเกาะบาหลี และช่วงเวลา 7 เดือนหลังเกิดเหตุระเบิด ดำเนินเรื่องผ่านเรื่องราวของนักข่าวสาวชาวออสเตรเลีย ผู้มาติดตามข่าวคราวความคืบหน้าของคดี พร้อมด้วยคนขับแท็กซี่ชาวบาหลี ผู้สูญเสียพี่ชายจากการระเบิด


ผู้สร้างภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่า แรงจูงใจในการก่อการระเบิดครั้งนี้ ล้วนมาจาก “ความศรัทธา ในพระเจ้า” และความเชื่อที่ว่า “เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ (Holy War) เพื่อการเข้าถึงพระเจ้าในสวรรค์” ชื่อหนัง Long Road to Heaven ก็เป็นการกล่าวแย้งกับความเชื่อของตัวละครตัวหนึ่งที่เชื่อว่า การพลีชีพเพื่อสงครามศักดิ์สิทธิ์ (Holy War) นี้ จะเป็นทางลัดไปสู่สวรรค์ และในการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ก็กล่าวถึงความเชื่อ ความศรัทธา ในหลายรูปแบบ ผ่านตัวละคร ที่เป็นชาวมุสลิม ชาวคริสต์ ชาวพุทธ -ฮินดู หรือแม้แต่ฮันน่านักข่าวสาวชาวออสเตรเลียที่กล่าวว่า “I believe in myself …. ฉันเชื่อในตัวฉันเอง” โดยแนวคิดรวมๆ ของภาพยนตร์แล้ว ต้องการสื่อถึงความเชื่อและความศรัทธาที่นำไปสู่การก่อการร้าย


อคติที่แอบแฝงกับความขัดแย้งแห่งโลกาภิวัฒน์


ในโลกความเป็นจริงยุคโลกาภิวัฒน์อันสับสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยความขัดแย้งดังที่ Levi Strauss, 1976 ได้เสนอว่า “มนุษยชาติขัดแย้งในตัวเองอยู่กับสองกระบวนการที่ขัดแย้งกันตลอดเวลา กระบวนการแรกคือ แนวโน้มที่เสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษย์ อีกกระบวนการหนึ่งคือความมุ่งมั่นที่จะดำรงหรือรื้อฟื้นความหลากหลายของมนุษย์” 1 ความเชื่อ ความศรัทธา วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ สิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ล้วนมีความหลากหลาย แต่โลกในยุคระเบียบใหม่นั้นได้พยายามทำให้ความหลากหลายทั้งหลายนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน มีอุดมการณ์เดียวกันคือ การเป็น “โลกที่เสรี ” ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประกอบกับกระบวนการโลกาภิวัฒน์ที่ร้อยรัดเชื่อมโยงและส่งผ่าน รวมไปถึงการครอบงำอุดมการณ์บางอย่างไว้จากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าสู่ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า ทั้งที่รู้เท่าทันและไม่เท่าทัน ทั้งโดยความสมัครใจและการบีบบังคับ หากโลกาภิวัฒน์ คือการผสมผสานกลมกลืนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี ข่าวสารความรู้ ให้แก่กันและกันแล้ว ในทางกลับกันก็ย่อมมีการต่อต้าน จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างอารยธรรมที่ไม่ยอมรับการส่งผ่านที่มีความแตกต่างเหล่านั้น ท่ามกลางภาวะโลกปัจจุบันที่เต็มด้วยอคติและความแคลงใจระหว่างศาสนา เชื้อชาติ Holy War ใน Long Road to Heaven จึงมิได้เป็นเพียงสงครามศักดิ์สิทธ์ที่มีเป้าหมายคือสรวงสวรรค์ แต่เป็นสงครามศักดิ์สิทธ์ที่เป็นไปเพื่อธำรงรักษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ความเชื่อ และตัวตน


ผู้แสดงที่รับบทเป็นHambali หัวหน้ากลุ่ม ผู้วางแผนก่อการระเบิดบนเกาะบาหลี


ภาพของมุสลิมในภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงอคติและความแคลงใจระหว่างศาสนา ชาวมุสลิมมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายหรือพวกหัวรุนแรง นับตั้งแต่เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 มุสลิมทั่วโลกก็ถูกมองว่าเป็นผู้นิยมความรุนแรง ผ่านภาพลักษณ์ทางศาสนา และโลกของข้อมูลข่าวสารเองก็รวดเร็ว จนบางครั้งทำให้เราลืมตั้งคำถามว่า ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมาจากที่ใด เป็นจริงแค่ไหน หลังเหตุการณ์ 9/11 เราได้รับข้อมูลข่าวสารจากตะวันตกมากมาย ภาพเครื่องบินพุ่งชนตึกไฟลุกท่วมจนพังทลายลงมา ภาพเหล่านี้ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมไปถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9/11 เช่น United 93 และ World Trade Center เป็นต้น


ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ ขณะที่อิมรอนผู้ก่อการระเบิดกำลังลังเลใจกับการระเบิด ที่จะก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของคนบาหลีด้วยกันเอง เขาได้ตั้งคำถามที่น่าคิดไว้ว่า “พระเจ้าจะจ้องมองเราเหมือนอย่างที่เราจ้องมองพวกเขาไหม ” และ “พวกเขาสมควรที่จะตายหรือ? ” อัมโรซีผู้ร่วมก่อการจึงตอบโต้ด้วยความคับแค้นใจว่า “ลองนึกถึงลูกหลาน พี่น้องชาวอัฟกานิสถานที่ต้องสูญเสียบ้างสิ ...”


บทสนทนาในตอนนี้ได้ทำให้เรานึกย้อนไปว่า ในความเป็นจริง เราได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้บ้างหรือไม่ ชาวมุสลิมถูกตัดสินไปแล้วว่า เป็นพวกก่อการร้ายที่ถูกล้างสมอง เป็นมุสลิม “หัวรุนแรง” ขณะที่สหรัฐอเมริกาและเหล่าประเทศพันธมิตร กลับมีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อการ “ธำรงรักษาสันติภาพในโลก”


สันติภาพในม่านหมอกความรุนแรง


บาหลี นอกจากจะเป็นสวรรค์สำหรับใครหลายๆ คนแล้ว ก็ยังมีคนไม่น้อยที่เห็นว่าบาหลีเป็นสถานที่ที่สงบสุขที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเช่นกัน บาหลีในใจของฮันน่าจึงเป็น “The most peaceful place in the world” เธอสวมสร้อยลูกปัดเส้นหนึ่งไว้ตลอดเวลา สร้อยคอที่ระลึกในเมืองท่องเที่ยวธรรมดา สร้อยลูกปัดบาหลีที่ระลึกที่คู่รักเธอให้ไว้ สร้อยลูกปัดที่ความหมายถึงสันติภาพ


ฉากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิด


การที่จูลี่ เด็กสาวอเมริกัน ได้มอบสร้อยลูกปัดให้แก่เพื่อนที่เธอพึ่งจะพบในผับ หรือการที่ฮันน่าได้มอบสร้อยคอให้กับฮัจจิ ชายชาวมุสลิมผู้ที่สอนให้เธอรู้ว่า “ศาสนาอิสลามที่แท้จริงนั้นศรัทธาในสันติภาพ ผู้ที่ทำการเลวร้ายนั้นไม่ได้เข้าใจในอิสลามที่แท้จริง .. .… มันไม่มีทางลัดไปสู่สวรรค์หรอก”


การให้ส่งมอบสร้อยลูกปัดให้แก่กัน จากเพื่อนสู่เพื่อน จากคู่รักสู่คู่รักส่งต่อไปยังคนแปลกหน้าที่พึ่งพบเจอ จากชาวตะวันตกสู่ชาวมุสลิม ก็เปรียบดั่งการส่งต่อความรักและสันติภาพให้แก่กันและกัน และอันที่จริงสันติภาพนั้นก็ไม่ได้ยึดติดอยู่กับสัญลักษณ์ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่มันควรเริ่มจากการมีสันติภาพในใจมากกว่า


การต่อสู้เพื่อดำรงอัตลักษณ์


เกาะบาหลีในภาพยนตร์ Long Road to Heaven ถือได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ดั่งที่ ฮันน่า หญิงสาวชาวอเมริกันผู้สูญเสียคู่รักจากกรณี 9/11 และได้หลบมาพักใจที่บาหลีได้กล่าวว่า “Bali is the most peaceful place in the world” บาหลีได้กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมและกลายเป็นสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก ความสวยงามของหาดทราย และความงามของวัฒนธรรม เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาก็เป็นที่แน่นอนว่า วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นจะเปลี่ยนไป เราจึงได้เห็นภาพกีฬาการละเล่นอย่าง พาราชู้ต วินเซิร์ฟ สกู้ตเตอร์ และภาพร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง KFC, Mc Donald ร้านอาหารนานาชาติ ผับ บาร์ ที่มีนักท่องเที่ยวดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน เต้นรำ นุ่งน้อยห่มน้อย ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมถือว่าเป็นบาปและเป็นเรื่องที่น่าละอาย ซึ่งต่างจากภาพบาหลีในช่วงแรกของหนังที่แสดงถึงความสงบ ความสวยงามของสถานที่ ประเพณี และพิธีกรรม ทั้งตามความเชื่อของชาวมุสลิมและพิธีกรรมของฮินดู ระบำบารอง การสวดสรรเสริญพระเจ้า


ภาพบ้านเรือนที่แปรเปลี่ยนไปเป็นโรงแรม ร้านค้าขายของที่ระลึก ห้างร้านขายสินค้าตะวันตก หญิงสาวชาวพื้นเมืองเริ่มมาทำงานในผับ ในบาร์ ดังในฉากหนึ่งของหนังที่นักข่าวสาวผู้รีบร้อนจนเหยียบกระทงเซ่นไหว้ โดยไม่ทันระวัง สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชัยชนะของวัฒนธรรมตะวันตก เหนือวัฒนธรรมแบบมุสลิม แม้จะเป็นไปเพราะวิถีการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ แม้จะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม


อุดมการณ์ ในการต่อสู้ทั่วโลกช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มักแบ่งเป็นสองแนวทางใหญ่ๆ คือ การปลดปล่อยประชาชาติ (National Liberation) กับลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การต่อสู้ที่อาศัยแนวทางของศาสนาอิสลาม ก็สามารถต่อต้านการปกครองแบบโลกเสรีได้เช่นกัน และก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือน (Shock Waves) ไปทั่วโลกมุสลิม ก่อให้เกิดกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม (Islamic Revival) ในระดับสากลช่วงทศวรรษ 1970


โลกภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรี ทำให้อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์เสื่อมถอยลงไป การต่อสู้ของมุสลิมบางกลุ่มจึงได้นำแนวทางของศาสนาอิสลามมาใช้ โดยมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับมุสลิมทั่วโลก เพื่อต่อต้านอุดมการณ์แบบตะวันตกและดำรงอัตลักษณ์ของตน นำไปสู่การโหยหาวัฒนธรรมอิสลามดั้งเดิม แต่ก็เป็นไปโดยการ “ครอบงำ” และ “การตีความตามจินตนาการ” เพื่อเป้าหมายบางอย่าง เช่น การนำความศรัทธาของชาวมุสลิมที่มีต่อพระเจ้ามาใช้กล่าวอ้าง เพื่อนำไปสู่การสร้างความรุนแรง กล่าวคือ ยิ่งการก่อการร้ายมีลักษณะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการลบล้างทางวัฒนธรรม (De-Culturalizatoin) ของมุสลิมที่ยึดถือในสันติภาพ การอ้างถึงความศรัทธาจนนำไปสู่การเข่นฆ่านั้น ไม่ใช่การแสดงออกของวัฒนธรรมมุสลิมดั้งเดิมอันบริสุทธิ์


ยุคหลังสมัย Postmodernism ที่ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับข้อคิดหรือแนวทางปฏิบัติที่เคยประพฤติกันมา หลายคนเลือกที่จะไม่เชื่อในพระเจ้าและเป็นคนไม่มีศาสนา (Atheist) อันเกิดจากความรู้สึกสงสัยไม่ไว้ใจ ก่อให้เกิดบทสนทนาหรือวาทกรรม ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ จากการครอบงำผ่านอุดมการณ์ หรือแนวประพฤติปฏิบัติต่างๆ ในสังคมมนุษย์ หรือที่เราเรียกว่า วาทกรรมแห่งการไม่ไว้วางใจ (Discourse of Suspicion) เกิดการล้มล้างความคิดเก่าๆ การหักล้างอุดมการณ์ที่มีอยู่ 2
ในกรณีของการต่อสู้ระหว่างโลกตะวันตก และโลกมุสลิมก็เช่นกัน เราควรพิจารณากันเสียใหม่ว่า กรณีเหตุการณ์ 9/11 กรณีระเบิดบาหลี กรณีสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานนั้น แท้จริงแล้ว เป็นสงครามระหว่างศาสนา เป็นสงครามความศรัทธา หรือว่า เราถูกครอบงำว่ามันเป็นเช่นนั้น แล้วกรณีเรื่องความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ความคิด รวมไปถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องเลยหรือ


กระบวนการโลกาภิวัฒน์ คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี เงินตรา ฯลฯ มันคือการย่อโลกให้เล็กลง หรือเป็นการครอบงำโลกกันแน่ และสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกวันนี้มีแต่กระบวนการของศาสนาอิสลามเท่านั้น ที่สามารถต้านทานการไหลบ่าของ “ความเป็นตะวันตก” เอาไว้ได้ แต่ทั้งนี้แนวทางการต่อสู้เพื่อดำรงอัตลักษณ์ของตน และต้านทานตะวันตกด้วยการใช้ความรุนแรงนั้น ก็มิใช่สิ่งที่ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม ศีลธรรม และศาสนาใดๆ ทั้งมวล


Long Road to Peaceful World


เมื่อความเป็นอิสลาม ไม่ได้มีอำนาจในตนเอง จึงต้องมีการนำพระเจ้ามาเอ่ยอ้าง การย้ำยืนอัตลักษณ์ให้แก่คนของตน ในขณะที่แบ่งแยกสร้างความเป็นอื่นขึ้นในเวลาเดียวกันนั้น เป็นความคิดชาตินิยมแบบที่มีความรุนแรงในตัวเอง


การแบ่งแยกออกเป็น พวกเขา พวกเรา กลายเป็นหมู่พี่น้องชาวมุสลิม กับพวกตะวันตก นำไปสู่ความชิงชัง ขัดแย้งระหว่างกัน


เป้าของการโจมตี 9/11 เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ต่อต้านทางเศรษฐกิจโดยการเลือกเป้าหมายเป็นตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าโลก รวมไปถึงเป้าหมายที่เป็นศูนย์กลางทางทหาร และความมั่นคงอย่าง กระทรวงกลาโหม และเพนตากอน


เป้าหมายในบาหลีก็เช่นกัน สถานทูตอเมริกา และผับแพดดี้ Paddy's Pub และคลับส่าหรี Sari Club ที่มีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ล้วนแต่เป็นเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์เพื่อการต่อต้านตะวันตก โดยไม่สนว่าเหยื่อจะเป็นใคร ขอแต่เพียงให้เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น และภาพยนตร์ให้เหตุผลที่เลือกบาหลีให้เป็นเป้าหมายในการระเบิดว่า


“ชายตะวันตกคนนั้น จงใจปิดลิฟท์ใส่หน้าเรา”

“มันไม่ยอมใช้ลิฟท์ร่วมกับพวกเราที่เป็นมุสลิม”

“ที่เสื้อของชายคนนั้น เขียนว่า ฉันรักบาหลี”

“แล้วถ้าเขาใส่เสื้อ ฉันรักภูเก็ตล่ะ”

“ถ้าอย่างนั้น เป้าหมายก็คือ ภูเก็ต”


การก่อการร้ายยุคใหม่จึงมีความรุนแรงและอันตราย มีการมุ่งเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ใช่อาวุธให้เป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพ เช่น ความศรัทธา โดยไม่แยแสกับชีวิตมนุษย์ผู้อื่น หรือ แม้กระทั่ง ชีวิตตนเอง โดยไม่สนใจว่าเป้าหมายจะเป็นที่ใด และเหยื่อจะเป็นใคร


อันที่จริงในกระแสความขัดแย้งระหว่างความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยของตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา และความเชื่อทางศาสนาของชาวมุสลิมนั้น ในที่สุดแล้วก็มีจุดร่วมเดียวกันว่า ชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และตามหลักศีลธรรมแล้วไม่มีมนุษย์คนไหนสมควรตาย และ การตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรงไม่ใช่หนทางสู่สันติภาพ ซึ่งหนังได้มองข้ามความสำคัญของประเด็นนี้ไปอย่างน่าเสียดาย


บรรณานุกรม
·
จุฑาพรรธ์ (จามจุรี) ผดุงชีวิต. วัฒนธรรม การสื่อสาร และอัตลักษณ์. กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.
· ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์.
จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้าย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์,
2545.
· ธีรยุทธ บุญมี. ชาตินิยม และหลังชาตินิยม. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2545.
--------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
1ธีรยุทธ
บุญมี, ชาตินิยม และหลังชาตินิยม, หน้า 16 .
2จุฑาพรรธ์ (จามจุรี) ผดุงชีวิต, วัฒนธรรม การสื่อสาร และ อัตลักษณ์ ,
หน้า 29.

ที่มา : http://www.thaiworld.org/th/thailand_monitor/answer.php?question_id=910

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ภาพบรรยากาศงานภาพยนตร์อุษาคเณย์

อ.เบเนดิก แอนเดอร์สัน พรีเซนเตอร์จำเป็น



อ.เบเนดิก แอนเดอร์สัน วิทยากรหนัง Wonderful Town



บรรยากาศภายในห้องฉายภาพยนตร์


โซนนิทรรศการภาพยนตร์อุษาคเณย์ บริเวณทางเข้าหอสมุดปรีดี พนมยงค์















และภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ภายในนิทรรศการ....