Wed, 2009-11-04 00:57
ในปี 2552 นี้ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีวาระครบรอบ 10 ปี แห่งการสภาปนา ทางโครงการจึงเฉลิมฉลองด้วยการจัดเทศกาล “ภาพยนตร์อุษาคเนย์ : แด่ ASEAN ที่รัก” ขึ้น ณ ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โดยมีการจัดฉายภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. ไปจนถึง 4 ธ.ค. 2552 ในวันศุกร์และวันเสาร์ของทุกสัปดาห์ ซึ่งได้จัดฉายไปแล้วสองเรื่องคือเรื่อง Burma VJ ในวันที่ 30 ต.ค. ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีของพม่า ว่าด้วยการทำสื่อประชาชนท่ามกลางการปิดกั้นจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ส่วนในวันที่ 31 ต.ค. เป็นภาพยนตร์เรื่อง Un Soir Apres La Guerre จากประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นภาพยนตร์เล่าถึงชีวิตผู้คนอันยากแค้นภายหลังสงครามกัมพูชา ผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครชายที่เป็นทหารผ่านศึกสงครามกัมพูชา และ ตัวละครหญิงที่ถูกขายให้เป็นหญิงทำงานในบาร์เนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจในครอบครัว
ทางประชาไท ได้พูดคุยกับ ชนม์ธิดา อุ้ยกูล และ รุจิเรข เจริญชัยไพบูลย์ ผู้ร่วมจัดงานซึ่งเป็นนักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในรุ่นที่ 6 และรุ่นที่ 5 ตามลำดับ ทั้งคู่บอกว่างานภาพยนตร์ในครั้งนี้เป็นการจัดฉายภาพยนตร์ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านแถบอุษาคเนย์ โดยพยายามจะจัดฉายให้ครบทั้ง 11 ประเทศ แต่ไม่สามารถหาภาพยนตร์จากประเทศบรูไนมาได้ ขณะเดียวกันก็มีภาพยนตร์จากประเทศใหม่อย่างติมอร์ตะวันออก (Timor-Leste)
ผู้ร่วมจัดงานทั้งสองคน กล่าวถึงการคัดเลือกหนังมาฉายในครั้งนี้ว่า พวกเขาจะเลือกหนังที่สามารถบอกเล่าเรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นมาของชาติ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ความขัดแย้ง ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียอุษาคเนย์
“เป็นหนังที่ดูแล้วจะเข้าใจประเทศเหล่านี้มากยิ่งขึ้น” ทั้งคู่ตอบเป็นเสียงเดียวกัน
“ส่วนใหญ่มันจะสะท้อนปัญหาความขัดแย้งภายในของแต่ละประเทศ” ชนม์ธิดาพูดถึงธีมหลัก ๆ ของภาพยนตร์ที่นำมาฉาย โดยกล่าวอีกว่าเนื้อหาของภาพยนตร์ส่วนใหญ่มันจะเกิดหลังยุคสงคราม เช่นสงครามเวียดนาม หรือหลังยุคอาณานิคม ที่มีภาพสะท้อนผลของการตกเป็นอาณานิคม
รุจิเรข ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง My Magic ภาพยนตร์ของสิงคโปร์ซึ่งจะฉายในวันที่ 6 พ.ย. รุจิเรขเล่าคร่าว ๆ ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงความเป็นชนกลุ่มน้อยของชาวอินเดียในสิงคโปร์ ชนม์ธิดา เสริมว่าคนอินเดียที่อยู่ในสิงคโปร์เป็นผลพวงมาจากยุคอาณานิคมของอังกฤษ ที่อังกฤษเอาคนจีนและคนอินเดียเข้ามาในสิงคโปร์ โดยการนำคนอินเดียเข้ามาควบคุมคนพื้นเมืองมลายู ทำงานรับใช้ราชการของจักรวรรดินิยมอังกฤษ
“เราจะเห็นเรื่องชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มใหญ่และคนกลุ่มน้อย เพราะเวลาเรามองภาพสิงคโปร์ เราจะเห็นแต่คนจีนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนในพื้นที่ อย่างคนอินเดียถูกกดทับ” รุจิเรขพูดถึงเรื่องบริบททางสังคมที่สะท้อนจากภาพยนตร์ My Magic โดยบอกอีกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของคนอินเดียในสิงคโปร์เป็นอย่างไร
ผู้ร่วมจัดงานทั้งสองคนยังได้กล่าวถึงประเด็นของภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่างเรื่อง Laskar Pelangi ซึ่งเป็นภาพยนตร์จากอินโดนีเซีย ที่แสดงให้เห็นถึงความฝันของเด็ก ๆ ที่เติบโตท่ามกลางความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ทำให้เด็ก ๆ ในเรื่อง ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร
โดยทั้งคู่ยังได้กล่าวถึงภาพยนตร์อินโดนีเซียอีกเรื่องคือ Long Road to Heaven ที่พูดถึงเหตุระเบิดในเกาะบาหลี เมื่อปี 2545 ว่ามีประเด็นเรื่องการก่อการร้ายที่สามารถโยงได้กับทั่วโลก
นอกจากการจัดฉายภาพยนตร์แล้ว งานนี้ยังมีการเสวนาหลังการฉายภาพยนตร์โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา เช่นในการฉายเมื่อวันที่ 30-31 ต.ค. ที่ผ่านมามี ซอว์ อ่อง (Soe Aung) คณะกรรมการด้านการต่างประเทศ จาก สมัชชาเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (Forum for Democracy in Burma) มาเป็นวิทยากรพูดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Burma VJ และมี อ.ทรงยศ แววหงษ์ อาจารย์จาก ม.ศิลปากร ผู้เป็นวิทยากรประจำรายการฉายหนัง "คุยกับหนัง" ที่ ม.ธรรมศาสตร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้ชมหลังฉายภาพยนตร์กัมพูชาเรื่อง Un Soir Apres La Guerre
“ถ้าดูแต่หนังอย่างเดียวคนดูอาจจะหลุดประเด็นบางประเด็น จึงมีการเสวนาเพื่อและเปลี่ยนประเด็นที่แต่ละคนจับได้” ชนม์ธิดา กล่าวถึงการเสวนา “หนังเรื่องหนึ่ง คนที่ตีความอาจจะตีความไม่เหมือนกันซึ่งการได้แลกเปลี่ยนจะทำให้การดูหนังสนุกยิ่งขึ้น”
เมื่อพูดถึงภาพยนตร์แล้วคนในบ้านเรามักจะคุ้นเคยกับภาพยนตร์ของฮอลลิวูด หรือภาพยนตร์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก อย่างญี่ปุ่น, จีน หรือเกาหลี มากกว่าภาพยนตร์ของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“เราขาดการส่งเสริมหนังประเทศเพื่อนบ้าน” รุจิเรขกล่าว
ขณะที่ชนม์ธิดา บอกว่าการขาดการสนับสนุนนั้นมาจากปัจจัยเรื่องการแทรกแซงของรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ ด้วย ภาพยนตร์ที่เอามาฉายในงานจึงมักเป็นภาพยนตร์ที่ร่วมทุนกับชาติตะวันตก หรือไม่ก็เป็นผลงานของผู้กำกับที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก
“ในประเทศบางประเทศรัฐบาลก็ไม่สนับสนุนภาพยนตร์ในประเทศตัวเอง บางเรื่องก็ถูกแบนด้วยอำนาจรัฐ เพราะมีการตอบโต้รัฐบาล” ชนม์ธิดากล่าว
ผู้ร่วมจัดงานบอกว่าการชมภาพยนตร์เหล่านี้อาจต้องอาศัยความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้านอยู่ระดับหนึ่ง แต่ว่าการที่นำภาพยนตร์เหล่านี้มาฉากสู่สาธารณชน จะทำให้เกิดความเข้าใจเพื่อนบ้านในหลายมุมมองมากขึ้นได้ มองเห็นภาพของประเทศนั้น ๆ กว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งปกติแล้วเรามักจะได้เห็นภาพผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านจากภาพข่าวและภาพการท่องเที่ยวที่ดูสวยงามมากกว่า
“ทำให้เห็นวัฒนธรรมของผู้คนเห็นตัวคนจริง ๆ ว่าเขาน่าจะเป็นอย่างไร ได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความคับแค้น ได้เห็นปัญหา” ชนม์ธิดากล่าว
งานเทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ แม้จะขาดหนึ่งประเทศของภูมิภาคอาเซียนอย่างบรูไนไป แต่ก็มีภาพยนตร์จากประเทศใหม่ที่แยกตัวออกจากอินโดนีเซียมาไม่นานอย่างติมอร์ตะวันออก (Timor Leste)
โดย รุจิเรข ได้พูดถึงภาพยนตร์จากติมอร์ตะวันออกเรื่อง A Hero Journey ว่าไม่มีใครเคยเห็นภาพประเทศติมอร์ตะวันออกมาก่อน เพราะเป็นประเทศที่เพิ่งเกิด พึ่งแยกออกมาอิสระ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึงการสร้างชาติของ ซานาน่า กุสเมา หลังจากติมอร์ตะวันออกได้รับเอกราช
“ทำให้เห็นผู้คนซึ่งโดนกดขี่ โดนทำร้าย มีความทรงจำที่ไม่ดีกับสงคราม กับอินโดนิเซีย กับเพื่อนบ้าน ว่าเขาจะรวมชาติ จะแก้ปัญหาตรงนั้นได้อย่างไร” รุจิเรขกล่าว “แล้วจะเห็นภาพภูเขาภาพทะเล ของติมอร์ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็น”
ขณะที่ภาครัฐมีการกล่าวถึงการส่งเสริมความเป็นประชาคมอาเซียน ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาติสมาชิก แต่ในระดับประชาชน ผู้จัดงานเห็นว่าการเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านในด้านสังคมและวัฒนธรรมยังมีไม่มาก เทศกาลภาพยนตร์ในปีนี้จงมีชื่อว่า “แด่อาเซียนที่รัก”
“ในเมื่อระดับรัฐบาล เขามีการพูดเยอะมากเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ในระดับประชาชนมีน้อยคนมากจะเข้าใจ น้อยคนมากที่จะรู้ว่าตอนนี้เรามีเพลงชาติอาเซียน” รุจิเรขกล่าว ส่วนชนม์ธิดาบอกว่าน้อยคนมากจะมีความรู้สึกร่วมถึงความเป็นอาเซียน
“แม้แต่คนไทยเอง คนเหนือก็บอกว่าตัวเองเป็นคนเหนือ คนใต้ก็บอกว่าตัวเองเป็นคนใต้”
“มันไม่มีเซนส์ของความเป็นสิ่งเดียวกัน” ชนม์ธิดากล่าว
รุจิเรข กล่าวขยายความต่อว่า การที่ภาพยนตร์ฉายให้เห็นภาพแต่ประเทศที่มีแตกต่าง จะทำให้ได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่างของกันและกัน และเกิดการยอมรับความต่าง ไม่ว่าจะในเรื่องศาสนาหรือเรื่องอื่น ๆ เพราะสิ่งที่พวกเรามีร่วมกันคือคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ผู้ร่วมจัดงานทั้งสองคนเชิญยังได้ชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าชมภาพยนตร์ โดยรุจิเรข บอกว่าให้ไม่อยากให้มองภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ฉายในงานว่าเป็นหนังศิลปะเข้าใจยาก แต่ให้คิดว่ามาดูภาพยนตร์เพื่อทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนชนม์ธิดาบอกว่า “เราได้มองเห็นประเทศเพื่อนบ้าน ในทางกลับกันเราได้ย้อนกลับมามองเหตุการณ์ในประเทศตัวเอง”
“อย่างเช่นสิงคโปร์ที่คนมองว่าเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ประสบความสำเร็จ มีความทันสมัย แต่เราไม่เคยเห็นปัญหาของคนสิงคโปร์เลย” รุจิเรขยกตัวอย่าง ทางด้านชนม์ธิดาเสริมเรื่องสิงคโปร์อีกว่า ปัญหาที่เกิดนั้นมีทั้งกับคนที่เป็นที่เป็นคนกลุ่มใหญ่อยากชาวจีน หรือคนที่เป็นคนกลุ่มเล็กอยางชาวมลายู ชาวอินเดีย ชาวอาหรับ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมเปิดมุมมอง เห็นภาพของผู้คนที่นอกเหนือไปจากการท่องเที่ยวหรือจากการโฆษณา
“มันเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ชมภาพยนตร์จากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งปกติหาดูได้ยากด้วย” ชนม์ธิดาฝากทิ้งท้าย
กำหนดการ : เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ ครั้งที่ 6: ตอน “แด่ ASEAN ที่รัก”
ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. ถึง 4 ธ.ค.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น