วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Burma VJ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์

Sat, 2009-11-21 02:00







ตัวอย่างภาพยนตร์ Burma VJ





Mizzima / 19 พ.ย.52 ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “เบอร์ม่า วีเจ” (Burma VJ) ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพนักข่าวในพม่า รวมถึงการปราบปรามกลุ่มพระสงฆ์และประชาชนพม่าที่ออกมาประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2550 ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 2553 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ เบอร์ม่า วีเจ เข้าฉายในปีนี้ และกวาดรางวัลมาแล้วกว่า 33 รางวัลจากเทศกาลหนังทั่วโลก อาทิ รางวัล World Cinema Documentary Film Editing Award รางวัล Golden Gate Persistence of Vision Award รวมทั้งยังถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลประเภทหนังสารคดีในการประกาศผลรางวัลหนังยุโรป (European Film Academy Documentaire 2009 - Prix Arte) ในต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ด้วย

ล่าสุด ภาพยนตร์เบอร์ม่า วีเจเป็นหนึ่งในภาพยนตร์สารคดี 15 เรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ โดยจะมีการโหวตและคัดเลือกให้เหลือเพียง 5 เรื่องในการประกาศผลรางวัลครั้งที่ 82 ในเดือนมีนาคมปีหน้า

ภาพยนตร์เบอร์ม่า วีเจเป็นผลงานการกำกับของ Anders Østergaard ชาวเดนมาร์ก ถ่ายทอดเรื่องราวของอาชีพนักข่าวและประชาชนในพม่าในช่วงการประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2550 โดยมีโจชัว นักข่าววัย 27 ปี เป็นตัวเดินเรื่อง ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์เป็นภาพเหตุการณ์จริงที่บันทึกได้จากโจชัวและนักข่าวคนอื่นๆ ของสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือ ดีวีบี (Democratic Voice of Burma)

นายตอว์โซแลต ผู้บริหารระดับสูงของสำนักข่าวดีวีบีเปิดเผยว่า เขารู้สึกภูมิใจกับหนังเรื่องนี้ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า นอกจากสื่อนานาชาติแล้ว ประเด็นปัญหาในพม่ายังได้รับความสนใจจากวงการภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ในช่วงการประท้วงใหญ่เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา มีนักข่าวของดีวีบีถูกจับไปแล้วหลายคนระหว่างที่บันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว



อ้างอิง : http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26698

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6: Bagong Buwan พินิจสงครามกลางเมืองในฟิลิปปินส์


สกู๊ปข่าวเทิงThaiPBS บันทึกเทปวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2552

. สัมภาษณ์ อ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ น.ส.ชนม์ธิดา อุ้ยกูล :ออกอากาศวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2552




เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6: Bagong Buwan พินิจสงครามกลางเมืองในฟิลิปปินส์

โดย ประชาไท
http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26583


เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการฉายภาพยนตร์จากฟิลิปปินส์เรื่อง Bagong Buwan (หรือ จันทร์ดวงใหม่) โดยหลังการฉายภาพยนตร์มีการเสวนาโดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์และนักวิชาการอิสระ

โดยการฉายภาพยนตร์ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของ “เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6 ตอน “แด่ ASEAN ที่รัก” เทศกาลภาพยนตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวาระครบรอบ 10 ปี แห่งการสถาปนาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำหนดจัดทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ต.ค. ถึงวันศุกร์ที่ 4 ธ.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มธ. ท่าพระจันทร์

(อ่านรายละเอียดของ Bagong Buwan และสถานการณ์ที่มินดาเนา ที่ล้อมกรอบด้านล่าง)

ความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นกับรัฐชาติ
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กล่าวหลังจากชมภาพยนตร์ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนาเท่านั้น แต่พูดถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐประชาชาติสมัยใหม่กับคนพื้นเมือง ภาพยนตร์เรื่องนี้ผูกเรื่องความขัดแย้งของคนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากรัฐชาติ เป็นการนำเสนอเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนฟิลิปปินส์ส่วนกลางกับคนโมโร (Bangsamoro) บนเกาะมินดาเนา ที่อยู่มานานหลายร้อยปี แต่ต่อมารัฐที่มีอำนาจมาบอกให้ยอมรับอำนาจอีกแบบหนึ่ง ภาพยนตร์จึงเป็นการพูดถึงปัญหาสากลของรัฐชาติสมัยใหม่

คือการสร้างชาติสมัยใหม่ เมื่อมีการอ้างว่าตนเป็นอำนาจรัฐแล้ว ก็จะทำให้คนที่อยู่ส่วนกลางคิดว่าคนที่อยู่ชายขอบยอมรับอำนาจส่วนกลาง และนำไปสู่การคิดว่าคนชายขอบต้องยอมรับอำนาจจากส่วนกลางเรื่องอื่นๆ เช่น ยอมรับภาษาของส่วนกลาง ศาสนาของส่วนกลาง วัฒนธรรมของคนส่วนกลาง ว่าต้องการจะให้เป็นแบบไหน อำนาจไปบอกให้คนเป็นแบบนั้นแบบนี้ ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์เรื่องนี้จึงนำเสนอสิ่งที่เป็นปัญหาสากลของโลก

ซึ่งคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือคนที่เชียงของดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วก็อาจคิดได้แบบนั้น ตัวอย่างของไทยอย่างเช่น กบฏผีบุญ กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏ 7 หัวเมืองมลายู คือเรื่องที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เป็นเรื่องที่อำนาจท้องถิ่นตอบโต้อำนาจส่วนกลาง และถูกอำนาจส่วนกลางเรียกว่ากบฏ ก่อการร้าย เพราะไปใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้กับกลไกรัฐที่มีความรุนแรงอยู่ในมือเช่นกัน

พลังทางการเมืองที่เรียกว่า ‘ความทรงจำ’
ปรากฏการณ์ที่เป็นเรื่องของความขัดแย้ง ความรุนแรง ถ้าเราไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ จะเข้าใจภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงประวัติศาสตร์ทั้งหมดเลย ในภาพยนตร์จะเห็นว่าเวลาที่ชาวบ้านมีปัญหา เขาจะปรึกษาผู้นำท้องถิ่นคือดาโต๊ะ อาลี ไม่ใช่เข้าไปหาทหาร ไม่ใช่เข้าศูนย์ผู้อพยพที่รัฐบาลเป็นคนตั้งให้

ในภาพยนตร์อะหมัด ซึ่งเป็นพระเอก บอกให้ชาวบ้านเข้าศูนย์ผู้อพยพ แต่แม่ของอะหมัดบอกให้ไปหาดาโต๊ะ ผู้นำในหมู่บ้านเพราะเชื่อใจได้มากกว่า ดาโต๊ะในภาพยนตร์จึงไม่ใช่เป็นแค่ดาโต๊ะ แต่เป็นผู้นำแบบเก่า เป็นความรุ่งเรืองในอดีต สะท้อนว่าครั้งหนึ่งคนโมโรเคยมีดินแดน มีประเทศเป็นของเขาเอง เคยมีผู้นำที่ประชาชนที่นั่นยินยอมพร้อมใจให้เป็นผู้นำ

และจากภาพยนตร์ฉากที่ดาโต๊ะไปรบกับรัฐบาลแล้วนิยามตัวเองว่าเหมือนบรรพบุรุษที่ปกป้องตัวเองจากกองทัพสเปนนั้น จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ตอนจบของภาพยนตร์มีฉากที่ฟาติมะ นางเอกในเรื่องพูดกับเด็กๆ ในศูนย์ผู้อพยพว่า “ให้พูดถึงประวัติศาสตร์ของพวกเราต่อไป”

ซึ่งรัฐบาลกลางอาจไม่ชอบความทรงจำแบบนี้ เหมือนกับที่รัฐบาลไทยไม่อยากให้พูดเรื่องสุลต่านในสามจังหวัดภาคใต้ เพราะความทรงจำแบบนี้ไม่ได้ผ่านเอกสารที่รัฐเขียน แต่มาจากการบอกเล่าของคน พ่อเล่าให้ลูก ลูกเล่าให้แม่ หรือลูกเล่าให้หลาน การบอกเล่าแบบนี้ทำให้เกิดพลังการต่อสู้ทางการเมืองได้

คนในขบวนการโมโร มีความทรงจำบางอย่างว่าเขามีดินแดนของเขาเอง “Moroland” เป็นคำพูดที่ได้ยินในภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง เรื่องเล่าแบบนี้เองที่กลายเป็นพลังทางการเมืองของคนชายขอบ ความทรงจำของคนทำให้เกิดพลังทางการเมือง

ตอนที่มีการเผยแพร่วีซีดีตากใบ หลังเหตุการณ์ตากใบในปี 2547 ซึ่งหนึ่งในผู้เผยแพร่คือวารสารฟ้าเดียวกัน สมัยนั้นทักษิณกับประชาธิปัตย์ทำเหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่งคือมีความเห็นว่าการเผยแพร่วีซีดีตากใบเป็นภัยความมั่นคง ในสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็อภิปรายในสภาว่า วีซีดีนี้เป็นการคุกคามความมั่นคงของชาติ

ขนบใหม่ของหนังสงคราม
ศิโรตม์อภิปรายต่อไปว่า ถ้าเรามองภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สงคราม จะเห็นขนบบางอย่างของสงคราม สมัยก่อนเวลามีภาพยนตร์สงคราม ภาพยนตร์จะให้ความสนใจเรื่องการต่อสู้ ฉากบู๊ล้างผลาญ ต่อมาแนวคิดเรื่องภาพยนตร์สงครามในโลกตะวันตกเปลี่ยนช่วงสงครามเวียดนาม ภาพยนตร์จะทำให้เห็นว่ามนุษย์เป็นสัตว์สงคราม สงครามเปลี่ยนคนดีๆ ให้กลายเป็นนักฆ่าได้อย่างไร โดยภาพยนตร์สงครามสมัยก่อนจะเน้นความใหญ่โตอลังการของฉากสงคราม อย่างเช่นภาพยนตร์ที่นำเสนอสงครามโลก แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในภาพยนตร์ใหม่ เป็นการนำเสนอว่าสงครามทำให้คนดีๆ กลายเป็นนักฆ่าได้อย่างไร หรือการทำให้คนดีๆ กลายเป็นคนที่ต้องการฆ่าคนได้อย่างไร โดยภาพยนตร์เรื่อง Platoon, the Hunter, Full Metal Jacket ก็พูดเรื่องนี้

คือเมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว สงครามดูดทุกคนเข้าสู่วัฎจักรของสงคราม อย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ อะหมัด เริ่มฉากแรกก็เป็นหมอ แต่ต่อมากลับกลายเป็นคนถือปืนไปยิงคนอื่นแล้ว เด็กคริสเตียนในภาพยนตร์ที่ชื่อฟรานซิส ก็ชวนให้สงสัยว่าถ้าในเรื่องเขาไม่ออกมาจากป่าและยังอยู่กับพวกโมโร เมื่อโตขึ้นมาจะกลายเป็นนักฆ่าหรือเปล่า

ดังนั้นผลของสงคราม แม้จะไม่ฆ่าเรา แต่ก็ทำให้เรามีวิธีคิดแบบใหม่คือ 1.ถ้าไม่กลายเป็นทหารเสียเอง ก็ 2.กลายเป็นคนที่คิดแบบทหาร คิดว่าความคิดแบบทหารเป็นสิ่งชอบธรรม ตัวอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างเช่นฉากทหารบ้านของรัฐบาลฟิลิปปินส์ไปปัสสาวะรดฐานมัสยิด ก็กลายเป็นสาเหตุการฆ่าของพวกโมโรได้

ศิโรตม์ ตั้งคำถามว่า แล้วในโลกนี้มีเหตุผลอะไรจริงๆ สักเรื่องหรือเปล่า ที่ดีพอที่จะทำให้คนฆ่าคนอื่นได้ มีนักวิชาการบางสำนักคิดพยายามอธิบายว่าการก่อการร้ายมีมูลเหตุมาจากอะไร แต่สำหรับคำถามเชิงศีลธรรม เชิงปรัชญาก็คือ ต่อให้มีเหตุผลที่ชอบธรรมให้ฆ่า เราควรยอมรับการฆ่านั้นได้หรือเปล่า ในเมื่อความดีเป็นเรื่องอัตวิสัย เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ดังนั้นเราจะยอมรับการฆ่าได้หรือไม่ เพราะแต่ละคนก็มีความเชื่อเรื่องความดีคนละแบบ

สำหรับคนที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงเศร้าใจว่า ตัวละครในภาพยนตร์ไม่สามารถออกจากวงจรสงครามได้ อย่างพระเอกในเรื่องที่เป็นหมอก็กลับมาเป็นนักฆ่าอีก ถ้ากองทัพฟิลิปปินส์ไม่ฆ่าขบวนการโมโร ขบวนการโมโรจะไม่ฆ่ากองทัพฟิลิปปินส์ได้หรือไม่ และขอชวนคิดคำถามที่ซับซ้อนไปอีกว่า ถ้ากรณีของไทยกองทัพรัฐบาลกลางไม่ฆ่านักรบมุสลิมได้หรือไม่ แล้วนักรบมุสลิมจะไม่ฆ่ากองทัพรัฐบาลได้หรือไม่

ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อเห็นเด็กๆ ฟังประวัติศาสตร์เรื่องเล่าของฟาติมะ นางเอกของเรื่อง ก็ชวนตั้งคำถามว่า อนาคตของเด็กจะเป็นอย่างไร ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ผูกเรื่องไว้ว่ายังไม่จบ ให้คนดูไปคิดต่อเอง


สงครามกลางเมืองและการฆ่าที่มาจากหลายฝ่าย
ศิโรตม์กล่าวต่อว่า เวลาคนคิดเรื่องความขัดแย้ง เราจะคิดถึงคู่ความขัดแย้งคือกองทัพรัฐบาลกลาง กับกองกำลังโมโร แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการฆ่าเกิดขึ้นได้จากหลายฝ่าย นอกจากกองทัพแล้ว ยังมีทหารบ้านของรัฐบาล ที่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบรัฐบาล อย่างที่เห็นในฉากแรกของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่พอเกิดระเบิดกลางเมืองก็มีคนออกมาถือปืนเต็มไปหมด ซึ่งไม่ใช่ทหารของรัฐบาลแต่เป็นทหารบ้าน (ฟิลิปปินส์เรียกว่า Illagas) โดยในโลกนี้ ความรุนแรงมักเกิดขึ้นจากฝ่ายทหารบ้าน ในฟิลิปปินส์ก็มีการจ้างชาวโมโรเป็นทหารบ้าน ใช้อาวุธ งบประมาณของรัฐบาล แต่ไม่แต่งเครื่องแบบ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกองทัพก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ทหารบ้านจึงเป็นเหมือนเครื่องจักรสงคราม ซึ่งการจ้างทหารบ้านเช่นนี้ ประเทศเจ้าอาณานิคมชอบใช้ คือให้อาวุธแก่คนพื้นเมืองที่ภักดีกับเจ้าอาณานิคมไปสู้กับคนพื้นเมืองที่เป็นฝ่ายต่อต้าน แล้วทหารบ้านนี้ก็สามารถเข้าไปในชุมชนได้มากกว่า โดยคนในเกาะมินดาเนาที่เสียชีวิต โดยมากก็เสียชีวิตเพราะทหารบ้าน ศูนย์รวมแห่งความรุนแรงจึงไม่ได้เกิดจากกองทัพแต่เกิดจากทหารบ้านที่คุมไม่ได้


ถ้าไม่ข้ามผ่านอัตลักษณ์ มนุษย์ไม่อาจอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้
ศิโรตม์กล่าวต่อไปว่า ที่เรามักบอกให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ซึ่งพูดง่าย แต่ในทางปฏิบัติความสมานฉันท์จะทำงานอย่างไร ในเมื่อคนมีความเชื่อและมีความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน

เราถูกตั้งโปรแกรมว่าคนต่างอัตลักษณ์กันจะต้องฆ่ากัน แต่ภาพยนตร์ทำให้เราเห็นว่า อัตลักษณ์ที่ถูกสร้างมาจากภายนอก เป็นเหตุผลที่มากำกับเราหรือเปล่า ในภาพยนตร์พอเกิดวิกฤต ในฉากตัวละครทุกอัตลักษณ์มาอยู่ร่วมกัน แล้วพบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่อัตลักษณ์ แต่เป็นความเป็นมนุษย์ที่ทำให้คนต่างอัตลักษณ์อยู่ร่วมกันได้ เราประเมินจากอัตลักษณ์แล้วเหมารวมไม่ได้ การอยู่ร่วมกับคนอื่น ทำอย่างไรที่เราจะไม่ใช้อัตลักษณ์ในการมองคน คนเราอยู่ร่วมกันไม่ได้อยู่ร่วมกันเพราะอัตลักษณ์ แต่อยู่ร่วมกันเพราะมีความสมานฉันท์ (Solidarity) มีความเป็นมนุษย์ จึงทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามนำเสนอในประเด็นนี้ ซึ่งดูเป็นแนวคิดที่โรแมนติก แต่ถ้าไม่คิดแบบนี้เราอาจไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็ได้ ศิโรตม์กล่าว

สำหรับ “เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6 ตอน “แด่ ASEAN ที่รัก” สุดสัปดาห์นี้ จะฉายภาพยนตร์ 2 เรื่อง โดยวันศุกร์ที่ 13 พ.ย. จะมีการฉายเรื่องเนรคุณ (Nerakhoon) จากประเทศลาว มีผู้อภิปรายหลังชมภาพยนตร์คือ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และในวันเสาร์ที่ 14 พ.ย. ฉายภาพยนตร์จากประเทศไทยเรื่อง Wonderful Town มี ศ.เบเนดิค แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) เป็นผู้อภิปราย

เกี่ยวกับ Bagong Buwan และสถานการณ์ที่มินดาเนา





ใบปิดหนังภาพยนตร์ Bagong Buwan



ภาพยนตร์ที่โต้นโยบายแตกหักของรัฐบาลฟิลิปปินส์ช่วงเอสตราดา
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan หรือจันทร์ดวงใหม่ เป็นภาพยนตร์จากประเทศฟิลิปปินส์ที่ฉายในปี 2544 กำกับโดย Marilou Diaz-Abaya นำแสดงโดยนักแสดงที่มีชื่อเสียงของฟิลิปปินส์คือเซซาร์ มอนตาโน Cesar Montano. Amy Austria ฯลฯ ภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan นี้ พยายามบอกเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของชาวโมโร หรือ the Bangsamoro เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกบฏมุสลิมในเกาะมินดาเนา และผลกระทบที่เกิดกับผู้คนบนเกาะ

ในภาพยนตร์เป็นสะท้อนการต่อสู้ระหว่างกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (the Moro Islamic Liberation Front - MILF) กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ยุคที่โจเซฟ เอสตราดา (Joseph Estrada) เป็นประธานาธิบดี ซึ่งขณะนั้นเอสตราดาประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อกวาดล้างกลุ่ม MILF นำไปสู่การสู้รบที่รุนแรงและสร้างความเดือดร้อนให้ประชากรในพื้นที่ ในภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นความไม่มั่นคงในชีวิตของชาวโมโร ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่นั่น ที่ต้องหนีการสู้รบตลอดเวลา

ตัวละครเอกในเรื่อง อะหมัด (Ahmad) แสดงโดย เซซาร์ มอนตาโน พระเอกขวัญใจชาวฟิลิปปินส์ อะหมัดเป็นแพทย์ชาวโมโรผู้มีอาชีพการงานดีในมะนิลา อะหมัดจำเป็นต้องเดินทางกลับมายังบ้านเกิดที่เกาะมินดาเนาหลังจากที่ลูกชายของเขาเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรง การกลับมาของอะหมัดเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เขาร่วมเผชิญชะตากรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ ระหว่างการเดินทางเพื่อนำพาพี่น้องให้อยู่รอดปลอดภัยนั้น ก็เกิดคำถามมามายถึงตัวตนของตนในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้มีหน้าที่รักษาชีวิตมนุษย์แต่จำต้องก้าวผ่านความคับแค้นในจิตใจ เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจเขาตลอดเวลา อะหมัดตัดสินใจจับปืนเพื่อสังหารทหารบ้านของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ข่มเหงมัสยิดของชาวโมโร และทารุณชาวบ้านผู้ไร้อาวุธ ในขณะเดียวกันด้วยอาชีพแพทย์ เขาตัดสินใจช่วยชีวิตนายทหารของกองทัพฟิลิปปินส์คนหนึ่ง ผู้เป็นศัตรูขั้วตรงข้ามของพี่ชายตัวเอง อะหมัดได้เรียนรู้ว่า ที่สุดแล้วในภาวะสงครามไม่มีใครเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ทุกคนต่างสูญเสีย แต่ผู้ที่ใฝ่ฝันถึงสันติภาพเท่านั้นจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะนั้นไป

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ Metro Manila Film Festival 2001 ในปี 2544 และได้รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมจากการประกวด Gawad Urian Awards 2003 ในปี 2546 ซึ่งเป็นการประกวดในฟิลิปปินส์ด้วย

สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ เขียนบทแนะนำภาพยนตร์ “BAGONG BUWAN: จันทร์ดวงใหม่ ในวันที่ไม่มีอคติและกระบอกปืน” ในหนังสือแนะนำโครงการ “ภาพยนตร์อุษาคเนย์: แด่ ASEAN ที่รัก” ตอนหนึ่งว่า “จะว่าไปแล้วภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan เป็นภาพยนตร์ฟิลิปปินส์เพียงไม่กี่เรื่องที่กล้าหาญเพียงพอที่จะพูดถึงประเด็นความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนาผ่านมุมมองของชาวมุสลิมโมโร ในอดีตที่ผ่านมาการเล่าเรื่องชาวมุสลิมโมโรบนแผ่นฟิล์มฟิลิปปินส์นั้น จะเป็นลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในการใช้กำลังเพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธบนเกาะมินดาเนา ซึ่งภาพลักษณ์ของชาวมุสลิมโมโรเหล่านั้นก็จะเป็นลักษณะของผู้ร้าย (สะท้อนอคติที่แอบแฝงในหมู่คนฟิลิปปินส์ส่วนกลางได้เป็นอย่างดี) โดยตัวของอดีตประธานาธิบดี Joseph Estrada เองก็เคยสวมบทนักรบกลุ่มติดอาวุธมุสลิมโมโรมาแล้ว เมื่อครั้งที่เขายังเป็นดาราภาพยนตร์ผู้โด่งดังในช่วงทศวรรษที่ 70

ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามที่จะเรียกร้องให้คนในชาติหันมาทบทวนมายาคติและอคติที่คนต่างชาติพันธุ์ต่างศาสนามีต่อกัน ตั้งแต่ตัวนักแสดงที่ส่วนใหญ่เป็นคริสเตียนและมาจากส่วนกลาง ไปจนถึงการใช้ละครที่เป็นเด็กและวัยรุ่นเป็นสื่อกลางของการทำความเข้าใจกันระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม”

การเรียกร้องเอกราช และการเจรจาสันติภาพที่มินดาเนา
ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ต่อสู้กับกบฏโมโรบนเกาะมินดาเนามาตั้งแต่ปี 2521 โดยมี 2 กลุ่ม คือ แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (MNLF) และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) โดยกลุ่ม MNLF ซึ่งเป็นกบฏกลุ่มใหญ่กว่า MNLF ลงนามข้อตกลงสันติภาพเพื่อแลกกับอำนาจปกครองตนเองในภาคใต้เมื่อปี 2539 ส่วนกลุ่ม MILF

ล่าสุดมีการเจรจากับรัฐบาลฟิลิปปินส์กระทั่งมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม MILF แต่ต่อมาในกลางเดือนตุลาคมปี 2551 ศาลฎีกาฟิลิปปินส์ โดยคณะตุลาการของศาลฎีกา ลงคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ประกาศให้ข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับขบวนการ MILF ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ข้อตกลงเป็นโมฆะ

ทั้งนี้ ศาลได้ออกคำสั่งคุ้มครองไม่ให้เจรจาข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งข้อตกลงนี้ระบุให้สิทธิแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโรควบคุมเมืองและหมู่บ้านราว 700 แห่งบนเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศ

ขณะที่ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปีนี้ MILF กับรัฐบาลเริ่มกลับมาเจรจากันอย่างไม่เป็นทางการนาน 2 วันที่มาเลเซีย โดยทั้งรัฐบาลฟิลิปปินส์ และ MILF ออกแถลงการณ์ร่วมว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะหวนเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจกันที่จะกรุยทางไปสู่การรื้อฟื้นกระบวนการเจรจาสันติภาพที่หยุดชะงักไป


อ้างอิงเพิ่มเติม
สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ, “BAGONG BUWAN: จันทร์ดวงใหม่ ในวันที่ไม่มีอคติและกระบอกปืน” ในหนังสือแนะนำโครงการ “ภาพยนตร์อุษาคเนย์: แด่ ASEAN ที่รัก”

http://en.wikipedia.org/wiki/Autonomous_Region_in_Muslim_Mindanao
http://en.wikipedia.org/wiki/Bagong_Buwan


**หมายเหตุ วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน มีการเปลี่ยนแปลงการฉายภาพยนตร์เรื่อง The Journey From The Fall เป็นภาพยนตร์เรื่อง Buffalo Boy แทน

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ThaiPBS : เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6 ตอน "แด่ ASEAN ที่รัก" Southeast Asian Film Show 6th “My Dear ASEAN”



. บทสัมภาษณ์ อ.ทรงยศ แววหงษ์ และ น.ส.ชนม์ธิดา อุ้ยกูล : ออกอากาศวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2552



สกู๊ปพิเศษ : เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6 "My Dear ASEAN"
บันทึกเทปวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2552



. สัมภาษณ์ อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ออกอากาศวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2552





. สัมภาษณ์ อ.ทรงยศ แววหงษ์ และ ผศ.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ : ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน 2552

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Burma VJ จุดประกายการต่อสู้ในพม่าอีกครั้ง

Thu, 2009-11-05 01:55


วงเสวนาหลังชมภาพยนตร์ Burma VJ (จากซ้ายไปขวา) โดยวิทยากรคือสุภัตรา ภูมิประภาส,
ซอ อ่อง และสมฤทธิ์ ลือชัย เป็นผู้ดำเนินรายการ



โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉลองวาระครบรอบ 10 ปี แห่งการสถาปนา ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์อุษาคเนย์เพื่อการศึกษา “เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6 ตอน “แด่ ASEAN ที่รัก” พร้อมการเสวนาภาพยนตร์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา โดยกำหนดจัดทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ต.ค. ถึง วันศุกร์ที่ 4 ธ.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยการจัดฉายภาพยนตร์วันแรก เมื่อ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นการฉายภาพยนตร์เรื่อง “Burma VJ” ความยาว 90 นาที

โดยหลังการฉายภาพยนตร์มีการเสวนาโดยมี ซอ อ่อง (Soe Aung) อดีตนักศึกษาพม่าในเหตุการณ์เดือนสิงหาคมปี 2531 ปัจจุบันเป็นเลขาธิการร่วมคณะกรรมาธิการฝ่ายต่างประเทศของสมัชชาเพื่อประชาธิปไตยพม่า (Forum for Democracy in Burma - FDB) และสุภัตรา ภูมิประภาส นักแปลและผู้สื่อข่าวอิสระ เป็นวิทยากร โดยมีสมฤทธิ์ ลือชัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดู Burma VJ เหมือนกลับไปสู่ยุค 8888
ซอ อ่อง กล่าวว่า ในเหตุการณ์ทหารพม่าสลายการชุมนุมเดือนสิงหาคม ปี 1988 หรือ พ.ศ. 2531 หรือเหตุการณ์ “8888” เขาอยู่ที่เมืองตองจี ในรัฐฉาน แต่ก็มีการติดต่อกับกลุ่มนักศึกษาในย่างกุ้งโดยตลอดทำให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้น

เขากล่าวว่าได้ชมภาพยนตร์ Burma VJ มาแล้ว 3 ครั้ง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ชมรู้สึกเหมือนกลับคืนสู่อดีตเมื่อ 20 ปีก่อนในยุค 8888 และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยพม่านั้นพระสงฆ์กับนักศึกษาพม่าร่วมมือกันตลอดมาตั้งแต่ปี ในการเดินขบวนเมื่อ พ.ศ.2550 ที่ผ่านมาพระสงฆ์ถือว่าออกมานำประชาชน เพราะพระสงฆ์ทนไม่ได้ที่เห็นประชาชนเดือดร้อนจากการขึ้นราคาน้ำมันและเชื้อเพลิง การต่อต้านแรกๆ เริ่มจากการสวดมนต์ ต่อมาเริ่มเดินขบวนและมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง

และที่ต้องยกย่องนอกจากพระสงฆ์แล้ว นักข่าวในพม่าก็เป็นอาชีพที่เสี่ยงชีวิต ในพม่ามีนักข่าวโดนจับติดคุกและเสียชีวิตจำนวนมาก นักข่าวที่ทำงานในพม่าไม่ว่าจะทำงานให้สถานีโทรทัศน์ DVB หรือที่ไหนก็แล้วแต่ มีข่าวถูกรัฐบาลพม่าจับตลอด ล่าสุดก็มีนักกิจกรรมถูกจับ 7 คน 2 ใน 7 คนเป็นนักข่าวที่ทำงานให้กับนิตยสารฉบับหนึ่งในพม่า
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องที่นี่)

ซอ อ่อง กล่าวว่า เขาเชื่อว่าถ้ามนุษย์ถูกกดดันโดยเผด็จการอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในพม่า มนุษย์ก็อาจพยายามสร้างสรรค์และต้องการเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นให้ทั่วโลกได้รู้

ผ่าน 8888 มา 19 ปี พม่ายังไม่เปลี่ยน
สุภัตรา ภูมิประกาส กล่าวว่า ถือว่านี่เป็นการชมภาพยนตร์เรื่อง Burma VJ เป็นครั้งแรก พร้อมกับผู้ชมในห้อง ระหว่างที่ดูทำให้ย้อนคิดถึงเหตุการณ์เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2543 ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ตนได้เดินทางเข้าไปในพม่าแบบนักท่องเที่ยว เพื่อเข้าไปพบกับออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลทหารพม่าเลิกคำสั่งกักบริเวณ การเข้าพบจึงไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอะไรเพราะออง ซาน ซูจีช่วงนั้นเป็นอิสระ และหลังจากเข้าพบออง ซาน ซูจีก็ถูกตำรวจลับติดตามตัว

ซึ่งในภาพยนตร์ Burma VJ ก็ได้เห็นฉากที่ตำรวจลับมาจับผู้ประท้วงชาวพม่า ก็ทำให้คิดถึงทริปการเดินทางไปพม่าครั้งนั้นของตัวเอง และพบว่าเหตุการณ์ในภาพยนตร์กับเหตุการณ์ที่เคยเกิดเมื่อ 10 ปีก่อนไม่เปลี่ยนแปลงเลย ตำรวจลับที่เคยเห็นก็แต่งตัวแบบนี้คือไม่อยู่ในเครื่องแบบ และมีอำนาจติดตามคนอื่นได้ตลอดเวลา แม้แต่เวลาที่เรานั่งทานกาแฟในล็อบบี้ของโรงแรม 5 ดาว ก็มีตำรวจลับของพม่าเข้ามา ซึ่งถ้าเป็นประเทศไทย ทางโรงแรมคงไม่ยอมให้มีใครเข้ามารบกวนแขกพักของโรงแรม แสดงให้เห็นว่าตำรวจลับพม่าทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น

สุภัตรากล่าวว่าที่ตนเข้าไปทำข่าวในพม่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับภารกิจของนักข่าว DVB ใน Burma VJ

สุภัตรากล่าวว่า ในภาพยนตร์ “โจชัว” ตัวละครในเรื่องกล่าวว่าในเหตุการณ์ “8888” เขายังเป็น Young Boy ซึ่งหากเทียบกับตนในปี 1988 ตอนนั้นก็คงเป็น Young Journalist โดยสมัยนั้นตนได้ร่วมกับนักศึกษาและนักกิจกรรมไทย-พม่า ตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ขึ้น โดยที่จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน 19 ปี เหตุการณ์ในพม่าไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย

สุภัตรากล่าวถึงสถานการณ์สื่อในพม่าว่า ข่าวในพม่า นักข่าวไม่สามารถทำข่าวได้มากเหมือนไทย ข่าวจะมีแต่ข่าวนายทหารทำบุญ จนดูเหมือนว่าทหารพม่าศรัทธาพระพุทธศาสนา แต่ฉากศพพระสงฆ์ลอยน้ำในภาพยนตร์ Burma VJ ช่างเป็นภาพที่ขัดแย้งกับภาพที่เคยปรากฏในสื่อพม่า จึงอยากตั้งคำถามชวนคิดว่า เมื่อไหร่สถานการณ์ในพม่าจะเปลี่ยนแปลง

ยังมีความหวัง เมื่อเห็นนักศึกษาพม่าออกมาต่อสู้รอบใหม่
ซอ อ่อง กล่าวถึงแนวทางการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยในพม่า หลังถูกปราบในปี 2550 อีกรอบว่า ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น ในปี 2531 ประชาชนถูกทหารยิงกว่า 3,000 คนหรืออาจจะมากกว่านั้น ในปี 2550 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน ในปี 2531 มีคนออกมาชุมนุมมากกว่าปี 2550 แต่ในปี 2531 แม้จะมีกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาล แต่นักศึกษาในเมืองก็ไม่รู้เรื่องสถานการณ์ที่ชายแดน แต่หลังจากการปราบปรามในปี 2531 นักศึกษาพม่าก็รู้ว่าชนกลุ่มน้อยกำลังทำอะไร

ในปี 2550 แม้ว่าคนเป็นแสนออกมาเดินขบวน แต่ปัญหาในพม่าจำเป็นต้องมีสถานการณ์ภายนอกกดดัน ในอาเซียนหลายประเทศมองว่าไม่ควรกดดันพม่า ควรดำเนินนโยบาย Constructive Engagement (พัวพันอย่างสร้างสรรค์) สหภาพยุโรปก็ไม่ได้กดดันพม่าเหมือนนโยบายที่สหรัฐอเมริกาทำ นโยบายดังกล่าวจึงยังไม่ได้ผล

เยาวชนที่ออกมาต่อสู้ในปี 2007 เกิดไม่ทันปี 1988 ด้วยซ้ำ แต่ในปี 2007 เขาก็ออกมาเหมือนพี่ๆ ในปี 1988 ผมภูมิใจและมีความหวัง ถ้าทำแบบนี้ไปต่อ เราจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงพม่าในเร็ววันนี้

อยากให้มีภาพยนตร์ถ่ายทอดชีวิตชนกลุ่มน้อยในพม่า
ซอ อ่อง กล่าวด้วยว่า นอกจากภาพยนตร์ Burma VJ แล้ว อยากให้มีภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยที่ชายแดนพม่า ให้โลกรู้ว่าสถานการณ์ที่ชายแดนพม่าเลวร้ายแค่ไหน ในพม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์อย่างน้อย 60 เชื้อชาติ ในปี 1996 มีหมู่บ้าน 3,500 แห่งถูกเผา ทำลาย บังคับโยกย้าย ในพม่ามีผู้ลี้ภัยในประเทศหรือ IDPs มากกว่า 500,000 คน ในเดือนกรกฎาคม 2551 ถึงสิงหาคม 2552 มีชาวกะเหรี่ยงอพยพเพราะสงครามกว่า 120 ชุมชน ในรัฐฉานในปีนี้มีผู้อพยพอย่างน้อย 20,000 คน เหตุการณ์ที่เกิดกับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เทียบได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในดาร์ฟูร์ (Darfur Genocide ในประเทศซูดาน)

กังขาชาติอาเซียนต้องการให้พม่าเป็นประชาธิปไตยแค่ไหนต่อคำถามจากผู้ดำเนินรายการที่ว่า การเป็นประเทศเผด็จการของพม่าส่งผลดีกับใครบ้าง สุภัตรา ตอบว่า ผู้นำชาติอาเซียนบางชาติอาจคิดว่าการเจรจาเพื่อแบ่งผลประโยชน์เฉพาะนายพลง่ายกว่าการเจรจาเพื่อแบ่งผลประโยชน์กับรัฐบาลที่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ที่ซับซ้อนกว่า ในแง่นี้ภาวะเผด็จการของพม่าจึงมีประโยชน์ในสายตาผู้นำอาเซียน ดังนั้นจึงไม่แน่ใจจริงๆ ว่า อาเซียนต้องการให้พม่าเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน

สุภัตรากล่าวด้วยว่า สุรินทร์ พิศสุวรรณ เคยไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เรื่องพัวพันอย่างสร้างสรรค์ ก็มีผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ารัฐบาลพม่าเปลี่ยนเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเป็นรัฐบาล รัฐบาลไทยจะบอกเรื่องนี้กับรัฐบาลใหม่ว่าอย่างไร สุรินทร์ตอบว่า ผมหวังว่าอองซาน ซูจีจะเข้าใจ

สุภัตราเปรียบเทียบการส่งข่าวในปี 2531 และ 2550 ว่า ในปี 2531 ไม่มี Video Journalist กว่าภาพจะออกมาจากพม่าใช้เวลานานมาก แต่ในปี 2007 ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในย่างกุ้งออกมาไวมาก ซึ่งถือว่ามีข้อมูลมากและเร็วพอที่อาเซียนจะกดดันพม่า แต่อาเซียนก็ไม่ทำอะไร ถ้าอินเดียและจีนยังหนุนพม่าขนาดนี้ และเริ่มจะมีหลายประเทศหนุนพม่า สถานการณ์พม่าคงไม่เปลี่ยนแปลง

นักกิจกรรมพม่ายันการเลือกตั้งปาหี่ยังไม่ใช่คำตอบแก้ปัญหาการเมืองพม่า
ซอ อ่อง กล่าวว่า นักศึกษารุ่น’88 ที่อยู่นอกประเทศไม่ได้คาดคิดว่าการประท้วงจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนั้น แม้จะมีการทำงานเชื่อมโยงระหว่างในประเทศกับนอกประเทศดีกว่าเมื่อปี 2531 หลายเท่า แต่ถือว่าเหตุการณ์ชุมนุมของพระสงฆ์เกิดขึ้นเร็วมาก เมื่อเกิดขึ้นเร็ว ย่อมควบคุมไม่ได้ ยุทธวิธีจึงอ่อนแอ ต้องหาทางปรับปรุง

แม้ว่าบางคนบางกลุ่มคิดว่าการเลือกตั้งในปี 2553 จะเป็นคำตอบ แต่ผมพูดได้เลยว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบและไม่ใช่การแก้ปัญหาการเมืองในพม่า เพราะเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยรัฐบาลทหารพม่า มีขั้นตอนลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญที่ไม่โปร่งใส มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างเช่น ที่มาของ ส.ส. ในรัฐสภา ที่ร้อยละ 25 จัดสรรให้เป็นที่นั่งของทหาร และอีก 75% ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็มีพรรคการเมืองที่รัฐบาลทหารสนับสนุนรอลงเลือกตั้งอยู่แล้ว เช่น USDA การจะขอปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องใช้เสียงมากกว่า 75% ของรัฐสภา จึงคิดว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบ การเปลี่ยนแปลงการเมืองในพม่าจึงไม่ควรเน้นที่การเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นการเจรจา การเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยด้วยเพื่อเปิดทางให้สามารถมีรัฐบาลพลเรือนปกครองประเทศได้ โดยท่าทีของพรรค NLD ขณะนี้ก็ยังไม่ออกมาระบุว่าจะสนับสนุนการเลือกตั้งหรือไม่ ท่าทีที่ประกาศขณะนี้มีเพียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น







สำหรับภาพยนตร์ Burma VJ หรือ Burma Video Journalists เป็นภาพยนตร์แนวสารคดีโดยผู้กำกับชาวเดนมาร์ก Anders Hogsbro Ostergaard ฉายครั้งแรกเมื่อปี 2551 ที่เดนมาร์ก มีความยาว 90 นาที ถ่ายทอดเรื่องราวการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่าและวิจารณ์รัฐบาลทหารพม่าผ่านภาพเหตุการณ์ในปี 2531 หรือ 8888 และเหตุการณ์ชุมนุมของพระสงฆ์ในปี 2550 โดยเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักที่ชื่อ “โจซัว” ผู้สื่อข่าวในพม่าของสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma หรือ DVB) และเพื่อนร่วมทีมของเขาที่ลักลอบใช้กล้องดิจิตอลบันทึกภาพเหตุการณ์ในพม่าช่วงการชุมนุมของนักกิจกรรมและพระสงฆ์ในปี 2550 และแอบส่งออกมาเผยแพร่ในโลกภายนอก ซึ่งการกระทำนี้ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในพม่า Burma VJ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในงานเทศกาลฉายภาพยนตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Full Frame Documentary, Film Festival Hot Docs International, Film Festival San Francisco Independent Film Festival, Seattle International Film Festival, Sundance Film Festival
(ชมภาพยนตร์ตัวอย่างที่นี่)


“เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6” ตอน “แด่ ASEAN ที่รัก” กำหนดจัดทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ต.ค. ถึง วันศุกร์ที่ 4 ธ.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยการจัดฉายภาพยนตร์วันศุกร์ที่ 6 พ.ย. นี้คือเรื่อง My Magic จากสิงคโปร์ มี ผศ.กำจร หลุยยะพงศ์ เป็นวิทยากร ส่วนในวันเสาร์ที่ 7 พ.ย. ฉายภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan จากฟิลิปปินส์ มี อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


อ้างอิง : http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26462

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แด่อาเซียนที่รัก : เทศกาลภาพยนตร์เพื่อความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านในระดับประชาชน

Wed, 2009-11-04 00:57







ในปี 2552 นี้ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีวาระครบรอบ 10 ปี แห่งการสภาปนา ทางโครงการจึงเฉลิมฉลองด้วยการจัดเทศกาล “ภาพยนตร์อุษาคเนย์ : แด่ ASEAN ที่รัก” ขึ้น ณ ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยมีการจัดฉายภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. ไปจนถึง 4 ธ.ค. 2552 ในวันศุกร์และวันเสาร์ของทุกสัปดาห์ ซึ่งได้จัดฉายไปแล้วสองเรื่องคือเรื่อง Burma VJ ในวันที่ 30 ต.ค. ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีของพม่า ว่าด้วยการทำสื่อประชาชนท่ามกลางการปิดกั้นจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ส่วนในวันที่ 31 ต.ค. เป็นภาพยนตร์เรื่อง Un Soir Apres La Guerre จากประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นภาพยนตร์เล่าถึงชีวิตผู้คนอันยากแค้นภายหลังสงครามกัมพูชา ผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครชายที่เป็นทหารผ่านศึกสงครามกัมพูชา และ ตัวละครหญิงที่ถูกขายให้เป็นหญิงทำงานในบาร์เนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจในครอบครัว

ทางประชาไท ได้พูดคุยกับ ชนม์ธิดา อุ้ยกูล และ รุจิเรข เจริญชัยไพบูลย์ ผู้ร่วมจัดงานซึ่งเป็นนักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในรุ่นที่ 6 และรุ่นที่ 5 ตามลำดับ ทั้งคู่บอกว่างานภาพยนตร์ในครั้งนี้เป็นการจัดฉายภาพยนตร์ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านแถบอุษาคเนย์ โดยพยายามจะจัดฉายให้ครบทั้ง 11 ประเทศ แต่ไม่สามารถหาภาพยนตร์จากประเทศบรูไนมาได้ ขณะเดียวกันก็มีภาพยนตร์จากประเทศใหม่อย่างติมอร์ตะวันออก (Timor-Leste)

ผู้ร่วมจัดงานทั้งสองคน กล่าวถึงการคัดเลือกหนังมาฉายในครั้งนี้ว่า พวกเขาจะเลือกหนังที่สามารถบอกเล่าเรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นมาของชาติ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ความขัดแย้ง ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียอุษาคเนย์

“เป็นหนังที่ดูแล้วจะเข้าใจประเทศเหล่านี้มากยิ่งขึ้น” ทั้งคู่ตอบเป็นเสียงเดียวกัน

“ส่วนใหญ่มันจะสะท้อนปัญหาความขัดแย้งภายในของแต่ละประเทศ” ชนม์ธิดาพูดถึงธีมหลัก ๆ ของภาพยนตร์ที่นำมาฉาย โดยกล่าวอีกว่าเนื้อหาของภาพยนตร์ส่วนใหญ่มันจะเกิดหลังยุคสงคราม เช่นสงครามเวียดนาม หรือหลังยุคอาณานิคม ที่มีภาพสะท้อนผลของการตกเป็นอาณานิคม

รุจิเรข ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง My Magic ภาพยนตร์ของสิงคโปร์ซึ่งจะฉายในวันที่ 6 พ.ย. รุจิเรขเล่าคร่าว ๆ ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงความเป็นชนกลุ่มน้อยของชาวอินเดียในสิงคโปร์ ชนม์ธิดา เสริมว่าคนอินเดียที่อยู่ในสิงคโปร์เป็นผลพวงมาจากยุคอาณานิคมของอังกฤษ ที่อังกฤษเอาคนจีนและคนอินเดียเข้ามาในสิงคโปร์ โดยการนำคนอินเดียเข้ามาควบคุมคนพื้นเมืองมลายู ทำงานรับใช้ราชการของจักรวรรดินิยมอังกฤษ

“เราจะเห็นเรื่องชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มใหญ่และคนกลุ่มน้อย เพราะเวลาเรามองภาพสิงคโปร์ เราจะเห็นแต่คนจีนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนในพื้นที่ อย่างคนอินเดียถูกกดทับ” รุจิเรขพูดถึงเรื่องบริบททางสังคมที่สะท้อนจากภาพยนตร์ My Magic โดยบอกอีกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของคนอินเดียในสิงคโปร์เป็นอย่างไร

ผู้ร่วมจัดงานทั้งสองคนยังได้กล่าวถึงประเด็นของภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่างเรื่อง Laskar Pelangi ซึ่งเป็นภาพยนตร์จากอินโดนีเซีย ที่แสดงให้เห็นถึงความฝันของเด็ก ๆ ที่เติบโตท่ามกลางความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ทำให้เด็ก ๆ ในเรื่อง ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร

โดยทั้งคู่ยังได้กล่าวถึงภาพยนตร์อินโดนีเซียอีกเรื่องคือ Long Road to Heaven ที่พูดถึงเหตุระเบิดในเกาะบาหลี เมื่อปี 2545 ว่ามีประเด็นเรื่องการก่อการร้ายที่สามารถโยงได้กับทั่วโลก

นอกจากการจัดฉายภาพยนตร์แล้ว งานนี้ยังมีการเสวนาหลังการฉายภาพยนตร์โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา เช่นในการฉายเมื่อวันที่ 30-31 ต.ค. ที่ผ่านมามี ซอว์ อ่อง (Soe Aung) คณะกรรมการด้านการต่างประเทศ จาก สมัชชาเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (Forum for Democracy in Burma) มาเป็นวิทยากรพูดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Burma VJ และมี อ.ทรงยศ แววหงษ์ อาจารย์จาก ม.ศิลปากร ผู้เป็นวิทยากรประจำรายการฉายหนัง "คุยกับหนัง" ที่ ม.ธรรมศาสตร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้ชมหลังฉายภาพยนตร์กัมพูชาเรื่อง Un Soir Apres La Guerre

“ถ้าดูแต่หนังอย่างเดียวคนดูอาจจะหลุดประเด็นบางประเด็น จึงมีการเสวนาเพื่อและเปลี่ยนประเด็นที่แต่ละคนจับได้” ชนม์ธิดา กล่าวถึงการเสวนา “หนังเรื่องหนึ่ง คนที่ตีความอาจจะตีความไม่เหมือนกันซึ่งการได้แลกเปลี่ยนจะทำให้การดูหนังสนุกยิ่งขึ้น”

เมื่อพูดถึงภาพยนตร์แล้วคนในบ้านเรามักจะคุ้นเคยกับภาพยนตร์ของฮอลลิวูด หรือภาพยนตร์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก อย่างญี่ปุ่น, จีน หรือเกาหลี มากกว่าภาพยนตร์ของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เราขาดการส่งเสริมหนังประเทศเพื่อนบ้าน” รุจิเรขกล่าว

ขณะที่ชนม์ธิดา บอกว่าการขาดการสนับสนุนนั้นมาจากปัจจัยเรื่องการแทรกแซงของรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ ด้วย ภาพยนตร์ที่เอามาฉายในงานจึงมักเป็นภาพยนตร์ที่ร่วมทุนกับชาติตะวันตก หรือไม่ก็เป็นผลงานของผู้กำกับที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก

“ในประเทศบางประเทศรัฐบาลก็ไม่สนับสนุนภาพยนตร์ในประเทศตัวเอง บางเรื่องก็ถูกแบนด้วยอำนาจรัฐ เพราะมีการตอบโต้รัฐบาล” ชนม์ธิดากล่าว

ผู้ร่วมจัดงานบอกว่าการชมภาพยนตร์เหล่านี้อาจต้องอาศัยความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้านอยู่ระดับหนึ่ง แต่ว่าการที่นำภาพยนตร์เหล่านี้มาฉากสู่สาธารณชน จะทำให้เกิดความเข้าใจเพื่อนบ้านในหลายมุมมองมากขึ้นได้ มองเห็นภาพของประเทศนั้น ๆ กว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งปกติแล้วเรามักจะได้เห็นภาพผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านจากภาพข่าวและภาพการท่องเที่ยวที่ดูสวยงามมากกว่า

“ทำให้เห็นวัฒนธรรมของผู้คนเห็นตัวคนจริง ๆ ว่าเขาน่าจะเป็นอย่างไร ได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความคับแค้น ได้เห็นปัญหา” ชนม์ธิดากล่าว

งานเทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ แม้จะขาดหนึ่งประเทศของภูมิภาคอาเซียนอย่างบรูไนไป แต่ก็มีภาพยนตร์จากประเทศใหม่ที่แยกตัวออกจากอินโดนีเซียมาไม่นานอย่างติมอร์ตะวันออก (Timor Leste)

โดย รุจิเรข ได้พูดถึงภาพยนตร์จากติมอร์ตะวันออกเรื่อง A Hero Journey ว่าไม่มีใครเคยเห็นภาพประเทศติมอร์ตะวันออกมาก่อน เพราะเป็นประเทศที่เพิ่งเกิด พึ่งแยกออกมาอิสระ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึงการสร้างชาติของ ซานาน่า กุสเมา หลังจากติมอร์ตะวันออกได้รับเอกราช

“ทำให้เห็นผู้คนซึ่งโดนกดขี่ โดนทำร้าย มีความทรงจำที่ไม่ดีกับสงคราม กับอินโดนิเซีย กับเพื่อนบ้าน ว่าเขาจะรวมชาติ จะแก้ปัญหาตรงนั้นได้อย่างไร” รุจิเรขกล่าว “แล้วจะเห็นภาพภูเขาภาพทะเล ของติมอร์ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็น”

ขณะที่ภาครัฐมีการกล่าวถึงการส่งเสริมความเป็นประชาคมอาเซียน ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาติสมาชิก แต่ในระดับประชาชน ผู้จัดงานเห็นว่าการเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านในด้านสังคมและวัฒนธรรมยังมีไม่มาก เทศกาลภาพยนตร์ในปีนี้จงมีชื่อว่า “แด่อาเซียนที่รัก”

“ในเมื่อระดับรัฐบาล เขามีการพูดเยอะมากเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ในระดับประชาชนมีน้อยคนมากจะเข้าใจ น้อยคนมากที่จะรู้ว่าตอนนี้เรามีเพลงชาติอาเซียน” รุจิเรขกล่าว ส่วนชนม์ธิดาบอกว่าน้อยคนมากจะมีความรู้สึกร่วมถึงความเป็นอาเซียน

“แม้แต่คนไทยเอง คนเหนือก็บอกว่าตัวเองเป็นคนเหนือ คนใต้ก็บอกว่าตัวเองเป็นคนใต้”
“มันไม่มีเซนส์ของความเป็นสิ่งเดียวกัน” ชนม์ธิดากล่าว

รุจิเรข กล่าวขยายความต่อว่า การที่ภาพยนตร์ฉายให้เห็นภาพแต่ประเทศที่มีแตกต่าง จะทำให้ได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่างของกันและกัน และเกิดการยอมรับความต่าง ไม่ว่าจะในเรื่องศาสนาหรือเรื่องอื่น ๆ เพราะสิ่งที่พวกเรามีร่วมกันคือคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ผู้ร่วมจัดงานทั้งสองคนเชิญยังได้ชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าชมภาพยนตร์ โดยรุจิเรข บอกว่าให้ไม่อยากให้มองภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ฉายในงานว่าเป็นหนังศิลปะเข้าใจยาก แต่ให้คิดว่ามาดูภาพยนตร์เพื่อทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนชนม์ธิดาบอกว่า “เราได้มองเห็นประเทศเพื่อนบ้าน ในทางกลับกันเราได้ย้อนกลับมามองเหตุการณ์ในประเทศตัวเอง”

“อย่างเช่นสิงคโปร์ที่คนมองว่าเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ประสบความสำเร็จ มีความทันสมัย แต่เราไม่เคยเห็นปัญหาของคนสิงคโปร์เลย” รุจิเรขยกตัวอย่าง ทางด้านชนม์ธิดาเสริมเรื่องสิงคโปร์อีกว่า ปัญหาที่เกิดนั้นมีทั้งกับคนที่เป็นที่เป็นคนกลุ่มใหญ่อยากชาวจีน หรือคนที่เป็นคนกลุ่มเล็กอยางชาวมลายู ชาวอินเดีย ชาวอาหรับ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมเปิดมุมมอง เห็นภาพของผู้คนที่นอกเหนือไปจากการท่องเที่ยวหรือจากการโฆษณา

“มันเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ชมภาพยนตร์จากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งปกติหาดูได้ยากด้วย” ชนม์ธิดาฝากทิ้งท้าย


กำหนดการ : เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ ครั้งที่ 6: ตอน “แด่ ASEAN ที่รัก”
ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. ถึง 4 ธ.ค.






อ้างอิง : http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26450

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ภาพยนตร์อุษาคเนย์ บนหน้าสื่อ










Southeast Asian Film Show 6th “My Dear ASEAN”




เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6
ตอน "แด่ ASEAN ที่รัก"









โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉลองวาระครบรอบ 10 ปี แห่งการสถาปนา ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์อุษาคเนย์เพื่อการศึกษา พร้อมการเสวนาภาพยนตร์โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา ในทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม ถึง วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์





ชมฟรี !


(ไม่เสียค่าบัตรผ่านประตู โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาเข้าชมภาพยนตร์)







---------------------------------------------------------------------------------
ศุกร์ที่ 30 ตุลาคม/30 October

Burma VJ: Reporting From a Closed Country





Burma VJ
2008/ 84 min / Denmark/Sweden/Burma
Director: Anders Østergaard
Commentator: Soe Aung



A Burmese young man Joshua becomes tactical leader of a group of reporters during Buddhist monks-led the September 2007 uprising in Burma. Under the heavily controlled media environment that foreign reporters are banned from the country, he and his colleagues keep the spirit of democracy and freedom from fear alive with cameras.

หนังสารคดีเกี่ยวกับประเทศพม่าที่บันทึกเรื่องราวของเหล่า Video Journalist หรือ VJ ที่มีเครื่องมือประจำตัวคือกล้องวิดีโอพกพาขนาดเล็ก พวกเขาแอบส่งภาพความเป็นไปของประเทศออกสู่โลกภายนอกแม้จะเสี่ยงต่อชีวิตและอาจต้องติดคุกก็ตาม Joshua ชายหนุ่มวัย 27 ปี เป็นผู้นำด้านกลยุทธ์ของนักข่าวกลุ่มนี้ โดยในช่วงที่พระสงฆ์ชาวพม่าลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาลทหาร บรรดาสำนักข่าวต่างชาติต่างถูกสกัดกั้นการรายข่าวการะท้วงดังกล่าว Joshua และทีมงานจึงกลายเป็นคนกลุ่มเดียวที่สามารถส่งภาพการปฏิวัติด้วยชายจีวรของคณะสงฆ์ออกสู่จอโทรทัศน์ทั่วโลกได้ เมื่อรัฐบาลทหารตระหนักถึงพลังของกลุ่มคนผู้ถือกล้องวิดีโอตัวเล็กๆ เหล่านี้ บรรดา VJ จึงตกเป็นเป้าหมายที่ต้องถูกกำจัด





“As gripping as any Hollywood thriller - and as heartbreaking as any weepie.”



The Daily Mirror




“Crucial testament to the will of a suffering people to ensure the world does not forget them.”



The Daily Telegraph



“A guerrilla portrait of a country in crisis and a testament to the power of citizen journalism.”
The Times






---------------------------------------------------------------------------------
เสาร์ที่ 31 ตุลาคม/31 October



Un Soir Après La Guerre





( One Evening After The War )
Director: Rithy Pahn
Commentator: Songyote
Waehongsa/อ. ทรงยศ แววหงษ์




Living in the war is hard but surviving after the war is harder, the film reflects life of Savannah a man who lost most of his family to the horrors of the Khmer Rouge regime is a former solider in the Cambodian Civil War but has to struggle in returning to normal life. He falls in love with a 19-year-old bar girl, Srey Poeuv who is humiliated by her debts to the bar's owner, and is forced to keep working. Savannah wants to help Srey clear her debt, so he teams up with an ex-soldier and plans a crime that could net him some money.

อีกหนึ่งภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมจากผู้กำกับ Rithy Pahn ผู้ซึ่งมีชีวิตช่วงหนึ่งร่วมในเหตุการณ์ทุ่งสังหารกลางทศวรรษที่ 70 ของกัมพูชา เรื่องราวของ Savannah ชายหนุ่มผู้สูญเสียสมาชิกส่วนใหญ่ในครอบครัวไปในช่วงเขมรแดงครองเมือง ชายหนุ่มผู้ซึ่งคุ้นเคยกับการการรบจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ในชีวิต คือการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมทีไร้สงครามแห่งการฆ่าฟันแต่เต็มไปด้วยสงครามแห่งการต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากความข้นแค้นทางเศรษฐกิจ เมื่อความรักและความเสียสละต้องแลกมาด้วยวิธีการนอกกฏหมายและความรุนแรง การหลุดพ้นจากสงครามในใจจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า







---------------------------------------------------------------------------------
ศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน/6 November



My Magic



My Magic
2008/75 min/Singapore
Director: Eric Khoo
Commentator: Assistant Professor Kamjohn
Louiyapong/ผศ. กำจร หลุยยะพงศ์



The film tells a story of Francis, an Indian alcoholic father who decides to change his lifestyle for the sake of his 10-year-old adolescent son. The son is a stoic old soul who has learned to bury his affection for his old man and to cope with his chaotic life. A broken spirit and a single parent, Francis hopes to win his son love and respect. An unexpected incident one night sets father and son on the road. In a dilapidated building, these two wounded souls come to terms with their love - a love which is as deep and acute as their grief.



Francis Bosco อดีตนักมายากลและพ่อหม้ายของลูกชาย Jathishweran ใช้ชีวิตปัจจุบันเป็นคนทำความสะอาดไนท์คลับ ทั้งยังมักปลอบใจตัวเองด้วยการดื่มเหล้าและมีชีวิตที่วุ่นวายทำให้เขากลายเป็นพ่อที่ไม่ได้รับความประสบความสำเร็จ ทั้งยังทำให้ลูกชายวัย 10 ปีรู้สึกขาดความรักและมีแต่ความเจ็บปวด Francis เองยังมีความหวังที่จะทำตัวใหม่และเอาชนะความรักและความเคารพของลูกชายอีกครั้ง เขาจึงสร้างมนต์ที่อันแสนแปลกประหลาดขึ้นมา เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในคืนหนึ่งได้ทำให้จิตวิญญาณที่มีบาดแผลของพวกเขาทั้งสองกลับมารวมความรักอย่างลึกซึ้ง





“Well conceived, executed and moving. My Magic is terrific.”
Oliver Stone



“My Magic may be grim and gritty but with unconditional love as it’s main theme, it will warm your heart.”
Channel News Asia

“Intensely emotional and unforgettable.”
Business Times




---------------------------------------------------------------------------------

เสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน/6 November


Bagong Buwan





Bagong Buwan
2001/110 min/Philippines
Director: Marilou Diaz-Abaya
Commentator: Sirote Klampaiboon/
อ. ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์



In 2000, President Joseph Estrada declared an all-out-war against the Mindanao's secessionist group Moro Islamic Liberation Front (MILF) with an aim at finishing the war in few weeks but it was unfinished. Its effects indiscriminately harm several innocent lives in the area either Muslims or Christians. The film makes audience realize about the meaning of living in the difference and tolerance.

ภาพยนตร์สัญชาติฟิลิปปินส์ที่มีชื่อแปลเป็นไทยว่า "จันทร์ดวงใหม่" ตัวละครเอกเป็นแพทย์มุสลิมที่มีอาชีพการงานดีในมะนิลาและมีพี่ชายเป็นสมาชิกของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน Moro Islamic Liberation Front (MILF) จำต้องเดินทางกลับมาบ้าน เพราะลูกชายของเขาถูกกะสุนปืนของกลุ่มทหารบ้านปลิดชีพ ความขัดแย้งภายในของตัวละครเอกหลังจากที่เขากลับมาและต้องร่วมเผชิญชะตากรรมกับผู้ลี้ภัยสงครามที่สังกัดศาสนาเดียวกัน ทำให้คำถามเรื่องความเป็นตัวตนของตัวเองนั้นกลายเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจของเขาตลอดเวลา



“It will help Christians to get a better understanding of Muslims and the Mindanao problem.”
Armand N. Nocum, Philippine Daily Inquirer

“It was a delight and a pleasure to watch Bagong Buwan.''
Manila Bulletin

“Never before has a movie of this genre gone to such length to depict a more authentic and fair rendition of the conflict in Mindanao.”



Maulana R. M. Alonto, Morostudies






---------------------------------------------------------------------------------

ศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน/13 November


Nerakhoon (Betrayal)




Nerakhoon (Betrayal)
2008/87min/United States/Laos
Director: Ellen Kuras/Thavisouk Phrasavath
Commentator: Dr. Charnvit Kasetsiri/อ.ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ



It took 23 years for the film to be done. This documentary film tells story of a Laotian family caught in the tides of war. They struggle to overcome the hardships of political refugee life, not only to adapt with new circumstance but also to deal with unforgettable past and forgiveness.

ภาพยนตร์แนวสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของชาวลาวครอบครัวหนึ่งที่ต้องอพยพลี้ภัยเมื่อครั้งยุคสงครามเย็น เนื้อเรื่องกล่าวถึง ทวีสุข ที่มีพ่อเป็นทหารผู้ซึ่งร่วมกับฝ่ายต่อต้านพรรคคอมิวนิสต์ลาว หลังสงคราม พ่อของทวีสุขกลายเป็นศัตรูของรัฐและถูกจับเข้าไปอยู่ใน Re-educational camp ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ยึดประเทศลาวได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่า ทวีสุขและสมาชิกที่เหลือในครอบครัวจะรอดชีวีตจากสงครามและได้ไปเริ่มต้นชีวิตในสหรัฐอเมริกา แต่ผลพวงของสงครามก็ทำให้การมีชีวิตอยู่ในสังคมใหม่และการต่อสู้กับความเจ็บปวดในใจนั้น เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า





“Thavi's story is about love, family, culture, betrayal, struggle, and, ultimately, survival and triumph, making Nerakhoon (The Betrayal) a powerful tale with a heart and soul you won't soon forget.”
Kim Vonyar, Cinematical

“The Betrayal" is a potent mix of archival footage, talking heads and visually arresting montages.”
V. A. Musetto, New York Post






---------------------------------------------------------------------------------
เสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน / 14 November


Wonderful Town





Wonderful Town
2007/92min/Thailand
Director: Aditya Assarat
Commentator: Prof. Benedict Anderson



The film is inspired by the town of Takua Pa in Pang-nga province where where the 2004 tsunami hit the hardest and 8,000 people were lost. The story is about a love that grows where there is no more love and about a town that tries to destroy the beauty that it cannot have for itself.

วันหนึ่ง (ต้น) สถาปนิกหนุ่มเดินทางมายังเมืองเล็กๆทางภาคใต้ของไทยที่ซึ่งความเงียบเหงาและความเศร้าสร้อยปกคลุมอยู่นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สึนามิ ต้นมาเช่าห้องในโรงแรมที่หญิงสาวชื่อ(นา) ดูแลอยู่ ครอบครัวของนาเป็นคนเก่าคนแก่ของเมือง ทั้งคู่เริ่มความสัมพันธ์กันอย่างลับๆแต่ก็ไม่เร้นรอดจากสายตาของคนในเมืองไปได้ (วิทย์)พี่ชายของนาเป็นหัวหน้าแก๊งประจำเมือง เขารักน้องสาวและไม่ชอบคนแปลกหน้า เขาเหมือนเด็กที่ชอบฆ่าสัตว์เลี้ยงของตัวเองโดยไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงรู้สึกอย่างนั้น รู้เพียงแต่ว่าเขาทนไม่ได้ที่จะเห็นคนอื่นมีความสุขความรักได้เติบโตขึ้นในที่ที่ไม่มีความรักเหลืออยู่เหมือนดอกไม้ที่โตในตมและทั่วทั้งเมืองก็พยายามทำลายความงามที่เมืองนี้ไม่มี แล้วเมืองนี้จะมีความสุขอีกครั้งได้ไหม?





“What gives the film its distinctive quality is less the relationship between the local girl and the outsider than the way it captures the mood of this wounded place.”
Philip French, The Guardian

“I have these days developed a certain suspicion of dreamy arthouse movies that pay for their dreaminess with a flourish of violence at the end, but there is no doubt that this is highly persuasive and intelligent film-making, the kind of movie that enfolds you in its world.”
Peter Bradshaw, The Guardian


“The film barely goes beyond his, and reveals no deeper expression in these people or their town.”
Daniel Kasman, D-kaz







---------------------------------------------------------------------------------


ศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน/20 November


Laskar Pelangi




Laskar Pelangi (Rainbow Warriors)
2008/125min/Indonesia
Director: Riri Riza
Commentator: Onanong Thippimol /อ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล


The film is adapted from a best-selling Indonesian novel “Laskar Pelangi [Rainbow Warriors].” It tells a story about an inspiring teacher Ibu Muslimah and her 10 students in “the poverty-stricken” Kampung Gantong located in “one of the country's richest Islands” Belitong. It reflects the spirit of being teacher that not only dedicating to education but also religion and faith. You will be filled with the beauty of friendships and dreams by “Rainbow Warriors.”

ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของอินโดนีเซีย ซึ่งมีชื่อเดียวกันกับภาพยนตร์ “Laskar Pelangi” หรือ “นักรบสายรุ้ง” บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคุณครูและเด็กนักเรียนในเขตชนบทห่างไกล บนเกาะ Belitung เกาะที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติแห่งหนึ่งของประเทศ เมื่อความร่ำรวยทางทรัพยากรไม่สามารถแปลงให้เป็นความมั่งคั่งอันจะแบ่งปันให้แก่การศึกษาของอนาคตของชาติได้ ความศรัทธาในความรู้ ในศาสนา มิตรภาพและกำลังใจ ที่ครูกับ “นักรบสายรุ้ง” จึงเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ แสงแห่งรุ้งบนท้องฟ้าปรากฏเป็นจริง




“One of the most affecting and poignant endings ever committed to Indonesian celluloid... makes audiences' hearts soar on their way out of the theater.”
The Jakarta Post


“Its infectious charm is a treat for young and old at international kid feasts and festival family sidebars”



Maggie Lee, Hollywoodreporter.com








---------------------------------------------------------------------------------


เสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน/21 November

*** ระงับการฉาย ภาพยนตร์เรื่อง Journey From The Fall โดยเปลี่ยนเป็น เรื่อง Gardien de Buffles (Buffalo Boy)


















---------------------------------------------------------------------------------


ศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน / 27 November


The Last Communist






Lelaki Komunis Terakhir 2006/90 min/ Malaysia Director: Amir Muhammad Commentator: Supalak Ganjanakhundee / คุณสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี



The movie is inspired by the leader of the disbanded Malayan Communist Party, Chin Peng and the Malayan Emergency (1948-1960) during which more than 10,000 Malayan and British troops and civilians lost their lives. The movie has been shown in several film festivals around the world but it becomes controversial in its home country.

ภาพยนตร์แนวสารคดีที่สะท้อนถึงชีวิตและบทบาททางประวัติศาสตร์ของ “Chin Peng” อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เรื่องราวของ “Chin Peng” ถูกใช้เป็นตัวเชื่อมโยงบริบทที่แตกต่างกันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ผ่านความทรงจำของผู้คนที่อาศัยอยู่ ณ สถานที่ต่าง ๆ ที่เขาเคยเดินทางไปพักอาศัยและต่อสู้ทางการเมือง ตลอดจนการเลือนหายอย่างไร้ตัวตนของพรรคคอมมิวนิสต์ดังกล่าวที่ถูกบอกเล่าผ่านเรื่องราวชีวิตประจำวันของผู้คนอีกจำนวนหนึ่งในปัจจุบันที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์หรือ “Chin Peng” เลย แม้สถานที่ที่พวกเขาอยู่อาศัยจะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตในอดีตของ “Chin Peng” เช่นกันก็ตาม





“The Last Communist is not a film about communism nor is it a celebration of the life of Chin Peng.”
Benjamin McKay, Criticine


“I think this is the first time a film has been banned for not being violent enough.”
Amir Muhammad



“ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้สร้างกำลังเขียนบอกเล่าประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน ซึ่งต่างจากประวัติศาสตร์ที่รัฐเขียนขึ้นมาตลอด”
หนังสือพิมพ์ มติชน








---------------------------------------------------------------------------------


เสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน/ 28 November


Long Road to Heaven



Long Road to Heaven
2007/120 min/Indonesia
Director: Enison Sinaro
Commentator: Chayanit Poonyarat/อ.ชญานิตย์ พูลยรัตน์

Based on true story, the movie sets at the 2002 Bali Bombing, a tragedy on one of the most beautiful island in the world. The movie looks at the tragedy from different points of view, including those of a Balinese taxi driver who lost a relative in the blast, Muslim militants who were blamed for the bombs.

ภาพยนตร์อินโดนีเซีย ที่สร้างจากเหตุการณ์จริง กรณีระเบิดที่เกาะบาหลี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2002 เป็นเวลา 1ปี 1เดือน 1วัน หลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ที่ตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 202 ราย เป็นชาวออสเตรเลีย 88 คน ชาวอินโดนีเซีย 38 คน ชาวอังกฤษ 24 คน ชาวอเมริกัน 7 คน และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆอีก 47ราย ตัวภาพยนตร์เองพยายามเข้าไปสำรวจ ความคิดและ จิตใจ ของกลุ่มผู้ก่อการซึ่งเป็นตัวละครที่มีผลต่อปฏิกริยาของผู้ชมมากที่สุด ผ่านกระบวนการตั้งแต่เริ่มวางแผน จนถึง ช่วงเวลาพิจารณาคดีในปี 2003


“While we were doing that we thought, there's so much more of a story here.”
Michael Gadd, The New Zealand Herald

“The film is an eye-opener for all sides and should be shown all over the world.”


Indonesiamatters





---------------------------------------------------------------------------------

ศุกร์ที่ 4 ธันวาคม /4 December


A Hero’s Journey



A Hero’s Journey
2007/81 min/Timor Leste/Singapore
Director: Grace PhanCommentator: Dr. Charnvit Kasetsiri/อ.ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

The movie explores life of Timor Leste's national hero Xaxana Gusmao through his journey of struggle for independence. Becoming an independence country is hard but to keep country's spirit of freedom alive is harder. Gusmao reveals his philosophy of being a fighter that not only fighting in the battlefield but also fighting to keep forgiveness and reconciliation in mind.

พวกเขาชนะสงครามด้วยความกล้าหาญและความเสียสละ ตอนนี้พวกเขาต้องต่อสู้เพื่ออนาคตผ่านการให้อภัยและการสร้างความปรองดองขึ้นอีกครั้ง เรื่องราวของประธานาธิปดีของประเทศอติมอร์เลสเต้ ซานานา กุสเมา ผ่านการเดินทางที่ห้าวหาญ จาก 24 ปีที่ประเทศถูกยึดครองโดยมาถึงถึงปัจจุบันกับความท้าทายของชาติที่เพิ่งเริ่มก่อร่างสร้างตัว เมื่ออุปสรรคของการถูกเข้าครอบครองจากต่างชาติสิ้นสุดลงแต่การต่อสู้เพื่อสร้างชาติจากศูนย์และต้องต่อสู้กับความยากจน, ความไร้สมรรถภาพ, การฉ้อโกง และความเกลียดชังเพิ่งจะเริ่มต้น ประธานาธิบดีกุสเมาจะเป็นผู้นำทางในการเดินทางที่ยากลำบากโดยเขาจะเปิดเผยตัวตนของติมอร์ผ่านสายตาและหัวใจของเขาเอง ซึ่งในเรื่องนี้เราจะได้ยินเขาพูดภาษา 4 ภาษาได้แก่ อังกฤษ โปตุกีส อินโดนีเซียน และ เตตุม ภาษาถิ่นของชาวติมอร์เลสเต้


“A Hero’s Journey documents the reasons Gusmao feels that forgiveness and reconciliation are so vital to his country’s survival in the coming years of independence.”


Tim Milfull, M/C Reviews

“The film closes with another poem, one of rebirth and hope. Forgiveness is not easy.”


Lesley Devlin, The Pundit






------------------------------------------------


Free admission!


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 02-6132672 02-6132672 ชมรายละเอียดการจัดฉายภาพยนตร์ครั้งนี้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ 10 ปี แห่งการสถาปนาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาได้ที่ http://seas.arts.tu.ac.th/


For more information, please contact Southeast Asian Studies Program, Faculty of Liberal Arts Thammasat University at 02-6132672 02-6132672 or click http://seas.arts.tu.ac.th