วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

BAGONG BUWAN จันทร์ดวงใหม่ ในวันที่ไม่มีอคติและกระบอกปืน

ผู้เขียน : สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ อาจารย์พิเศษ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
---4 ม.ค. 2553---



ภาพยนตร์สัญชาติฟิลิปปินส์เรื่องนี้มีชื่อที่แปลเป็นไทยว่า "จันทร์ดวงใหม่" เป็นผลงานการกำกับของ Marilou Diaz-Abaya1 โดยออกฉายหลังจากที่นายโจเซฟ เอสตราดา (Joseph Estrada) ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ได้ประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อกวาดล้างกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF-Moro Islamic Liberation Front) บนเกาะมินดาเนา ทางภาคใต้ของประเทศ ความขัดแย้งที่ร้อนระอุและนำไปสู่การสู้รบที่รุนแรงของทั้งสองฝ่ายนั้น สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชากรในพื้นที่อย่างมาก ฉากในภาพยนตร์ฉายให้เห็นถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของชาวมุสลิมโมโร (Moro)2 ในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน ชีวิตของผู้คนที่นั่น คือ การที่ต้องอพยพหนีการสู้รบอยู่ตลอดเวลา นอกเหนือไปจากความขัดแย้งในแง่ของการใช้ความรุนแรงแล้ว ความขัดแย้งในเรื่องอัตลักษณ์และอุดมการณ์ชาตินิยมของชาวมุสลิมโมโรในฟิลิปปินส์ ก็เป็นเรื่องที่เข้มข้นไม่แพ้กัน
.
.


โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan ภาพยนตร์เพื่อสันติภาพบนเกาะมินดาเนา


ตัวละครเอกในเรื่อง Ahmad (แสดงโดย Cesar Montano พระเอกขวัญใจตลอดกาลของชาวฟิลิปปินส์) แพทย์ชาวมุสลิมโมโร ผู้มีอาชีพการงานดีในมะนิลา มีพี่ชายเป็นสมาชิกของกลุ่ม MILF จำต้องเดินทางกลับมายังบ้านเกิด หลังจากที่ลูกชายของเขาเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรง การกลับมาของ Ahmad เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เขาร่วมเผชิญชะตากรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ ระหว่างการเดินทางเพื่อนำพาพี่น้องให้อยู่รอดปลอดภัยนั้น ก็เกิดคำถามมากมายถึงตัวตนของเขาเองในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้มีหน้าที่รักษาชีวิตมนุษย์ แต่จำต้องก้าวผ่านความคับแค้นในจิตใจที่กลายเป็นสิ่งที่รบกวนเขาตลอดเวลา Ahmad ตัดสินใจจับปืนเพื่อสังหารทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ที่ทารุณชาวบ้านผู้ไร้ซึ่งอาวุธและข่มเหงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมโมโร ในขณะเดียวกันด้วยสัญชาติญาณของนายแพทย์ เขาตัดสินใจที่จะช่วยชีวิตนายทหารของกองทัพคนหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นศัตรูขั้วตรงข้ามของพี่ชายตัวเอง Ahmad ได้เรียนรู้ว่า ที่สุดแล้วในภาวะสงครามไม่มีใครเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ทุกคนต่างสูญเสีย แต่ผู้ที่ใฝ่ฝันถึงสันติภาพเท่านั้นจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะนั้นไป

"จันทร์ดวงใหม่" ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan เป็นตัวแทนของการเริ่มต้น ช่วงเวลาใหม่ของเดือน เดือนที่คาดหวังว่าสันติภาพจะกลับมาสู่ดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง ขณะเดียวกัน "จันทร์ดวงใหม่" ยังหมายถึงความเข้าใจใหม่ต่อชาวมุสลิม อันปราศจากอคติเดิมๆ ที่ผู้กำกับพยายามจะสื่อสารกับผู้ชม

เด็กกับเมล็ดพันธุ์ความขัดแย้ง

จะว่าไปแล้ว Bagong Buwan อาจจะเป็นภาพยนตร์ฟิลิปปินส์เพียงไม่กี่เรื่อง ที่กล้าหาญพอที่จะพูดถึงประเด็นความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนา ผ่านมุมมองของชาวมุสลิมโมโร ในอดีตที่ผ่านมา การเล่าเรื่องชาวมุสลิมโมโรบนแผ่นฟิล์มฟิลิปปินส์นั้น จะเป็นลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในการใช้กำลังเพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธบนเกาะมินดาเนา ซึ่งภาพลักษณ์ของชาวมุสลิมโมโรเหล่านั้น ก็จะเป็นลักษณะของผู้ร้าย (สะท้อนอคติที่แอบแฝงในหมู่คนฟิลิปปินส์ส่วนกลางได้เป็นอย่างดี) โดยตัวของอดีตประธานาธิบดี Joseph Estrada เองก็เคยสวมบทบาทเป็นนักรบกลุ่มติดอาวุธมุสลิมโมโรมาแล้ว เมื่อครั้งที่เขายังเป็นดาราภาพยนตร์ผู้โด่งดังในช่วงทศวรรษที่ 70

ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามที่จะเรียกร้องให้ผู้คนในชาติ หันมาทบทวนมายาคติและอคติที่คนต่างชาติพันธุ์ต่างศาสนามีต่อกัน ตั้งแต่ตัวนักแสดงที่ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์และมาจากส่วนกลาง ไปจนถึงการใช้ตัวละครที่เป็นเด็กและวัยรุ่นเป็นสื่อกลางของการทำความเข้าใจกันระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม


หนูน้อย Francis กับ Rashid คู่หู ห้องเรียนสันติภาพที่พวกเขาเป็นตัวแทนแห่งการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างคนต่างชาติต่างศาสนา

ฉากเริ่มของภาพยนตร์เผยให้เห็นถึงเด็กๆชาวมุสลิมโมโรที่แขนขาพิการอันเป็นผลพวงจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่ จากนั้นก็เดินเรื่องด้วยการแนะนำให้รู้จักกับ Francis เด็กน้อยชาวคริสต์ที่เกิดและเติบโต ณ ศูนย์กลางของอำนาจรัฐ แต่พลัดหลงเข้าไปอยู่ในกลุ่มชาวบ้านมุสลิมโมโร และร่วมผจญชะตากรรมการหนีภัยสงคราม ตัวละครตัวนี้ได้สะท้อนถึงความพยายามที่จะกำจัดอคติในใจชาวคริสต์ได้เป็นอย่างดี ผู้กำกับเลือกที่จะใช้เด็กเป็นทูตสันติภาพในการสลายอคติระหว่างคนต่างชาติศาสนา สิ่งที่ Francis ประสบก็คือ ชาวมุสลิมโมโรที่เขาเคยถูกสั่งสอนมาว่า เป็นพวกไม่น่าไว้วางใจ เป็นพวกไร้การศึกษานั้น กลับกลายเป็นคนที่ช่วยชีวิตเขาและเลี้ยงดูราวกับเป็นลูกแท้ๆ อีกทั้งยังปลูกฝังค่านิยมแห่งสันติภาพให้กับเขา Francis ได้ผ่านพบประสบการณ์แห่งการพลัดพราก ความตาย และการเข่นฆ่า เขาได้เรียนรู้ว่าความรุนแรงนั้น จริงๆแล้วไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันสามารถจัดการและทำลายล้างได้กับทุกคน

ในอีกด้านหนึ่ง Rashid เด็กหนุ่มผู้จิตใจเต็มไปด้วยอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวมุสลิมโมโรด้วยการจับอาวุธขึ้นสู้ ถูกนำเสนอเป็นตัวแทนของมรดกตกทอดแห่งความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น สำหรับเขาแล้วการ "ปลดปล่อย" พี่น้องมุสลิมโมโร คือการใช้ความรุนแรงประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม เขาเลือกที่จะไม่เรียนหนังสือเพราะมองว่านั่นไม่ใช่หนทางแห่งอนาคต โรงเรียนไม่สามารถให้คำตอบเรื่องความมั่นคงในชีวิตของชาวมุสลิมโมโรได้ Rashid ปะทะคารมกับผู้เป็นอาของเขา Ahmad หลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากAhmad เห็นว่า Rashid ควรจะไปเรียนต่อในมะนิลาเพื่ออนาคตทางการศึกษา และหลุดพ้นจากบรรยากาศการบ่มเพาะความรุนแรง แต่สำหรับ Rashid แล้ว ข้อเสนอที่ถูกหยิบยื่นให้นั้นไม่ใช่แนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต เขาเห็นว่า Ahmad ผู้ที่มีโอกาสได้ไปร่ำเรียนวิชาในมะนิลา เป็นพวกละทิ้งอุดมการณ์และละทิ้งชาวมุสลิมโมโร การปะทะกันในเชิงความคิดระหว่างสองตัวละครนี้สะท้อนว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ ได้ตกตะกอนและมีอิทธิพลในการหล่อหลอมความคิดให้กับเยาวชนรุ่นหลังที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความขัดแย้งอย่างมาก พวกเขาเห็นช่องทางแห่งอนาคตค่อนข้างจำกัด และถูกทำให้เชื่อว่าการจับปืนลุกขึ้นสู้นั้นเป็นหนทางเดียวที่จะปลดปล่อยตัวเองและพี่น้องชาวมุสลิมโมโรจากความทุกข์ยากได้

ผู้หญิงและคนแก่ ภารกิจเพื่อตัวตนและประวัติศาสตร์

ท่ามกลางควันปืนและเสียงอื้ออึงของอาวุธหนักเบาในสมรภูมิรบ ภาพของนักรบกลุ่มติดอาวุธและทหารของฝ่ายกองทัพ เป็นสิ่งที่เรามักจะคุ้นชิน จนคิดไปว่า ชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่มีเพียงแค่รบและรบเท่านั้น บางครั้งทำให้เราลืมนึกถึงคนอื่นๆ ที่ไม่ติดอาวุธว่า พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

Farida ตัวละครผู้เป็นแม่ คือ ภาพสะท้อนถึงสถานการณ์ของผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้งที่น่าสนใจ สำหรับเธอแล้ว การลี้ภัยและโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อหนีภัยสงครามนั้น มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในช่วงชีวิตของเธอ ขณะที่ผู้ชายมุสลิมโมโรไปรบในแนวหน้า (หลายคนเลือกที่จะละทิ้งครอบครัวไปเลย) ผู้หญิงกลายเป็นผู้แบกภาระเลี้ยงดูสมาชิกที่เหลือในครอบครัว ตราบวินาทีสุดท้ายของ Farida เธอแสดงให้เห็นว่าหน้าที่ของผู้แสดงบทบาท "ความเป็นแม่" นั้นมีความสำคัญอย่างมากในภาวะที่ผู้คนรอบตัวกลายสภาพเป็นผู้ลี้ภัย การมีชีวิตเพื่ออยู่รอดเป็นเรื่องใหญ่ แต่การดูแลให้ผู้อื่นได้อยู่รอดนั้นสำคัญยิ่งกว่า



Farida ตัวแทนผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้ง ภาระเพื่อนำผู้คนผู้อยู่เบื้องหลังเดินก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างสันติ



Datu Ali ผู้สืบเชื้อสายจากสุลต่าน ตัวแสดงที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในเรื่อง เป็นภาพตัวแทนของความทรงจำทางประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมโมโร ศักดิ์ศรี และอุดมการณ์รวมอยู่ในตัวเขา Farida และพี่น้องผู้ลี้ภัยในเรื่อง เลือกที่จะไปบ้าน Datu Ali เพื่อลี้ภัยมากกว่าค่ายผู้ลี้ภัย พวกเขารู้สึกปลอดภัยและมั่นคงมากกว่า ในสังคมมุสลิมโมโรบนเกาะมินดาเนานั้น ผู้สืบเชื้อสายมาจากบรรดาสุลต่านในอดีตยังคงมีบารมี และได้รับการเคารพนับถือจากผู้คน

ในฐานะที่เป็นฐานที่มั่นเชิงอัตลักษณ์ที่หล่อหลอมมรดกทางประวัติศาสตร์ไว้ เพราะตั้งแต่ครั้งสเปนเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ บรรดาสุลต่านที่ครองดินแดนแสดงบทเป็นผู้นำในการต่อสู้กับสเปน สำหรับชาวมุสลิมโมโรแล้ว พวกเขาก็มีประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของตนเอง ในเรื่อง Datu Ali ได้เอ่ยถึงวีรกรรมของ Sultan Kudarat ฮีโร่ของชาวมุสลิมโมโร ผู้ซึ่งต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมก่อนที่ประเทศฟิลิปปินส์จะถือกำเนิดเสียอีก Datu Ali ในเรื่องถึงแม้จะเป็นคนสูงวัย ที่ไม่ได้ออกไปรบแนวหน้า แต่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องและรักษาอัตลักษณ์ของคนในสังคมไว้


ภาพยนตร์กับความเป็นจริงที่เป็นไป


ความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนา มักจะเป็นแง่มุมที่ได้รับการกล่าวถึงน้อยมาก เราไม่ทราบเรื่องราวความเป็นไปของผู้คนเหล่านั้นว่า พวกเขามีความสัมพันธ์ในสังคมอย่างไร ความเป็นจริงก็คือ สังคมมุสลิมโมโรนั้น มีความหลากหลายค่อนข้างสูง อย่างเช่น ตัวละครอย่าง Farida ผู้เป็นแม่ มีลูกชายสองคน คนหนึ่งเป็นนายแพทย์ ผู้มีอาชีพการงานที่ดีในมะนิลา มีความใฝ่ฝันที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยวิชาการแพทย์ และเป็นตัวแทนของชาวมุสลิมโมโรจำนวนมาก ที่จบลงด้วยการเดินทางไปหาความหวังใหม่ของชีวิตนอกแผ่นดินเกิด (ที่เต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้ง) ส่วนอีกคน Musa เลือกที่จะเป็นนักรบของกลุ่ม MILF เพื่อปลดปล่อยพี่น้องมุสลิมโมโรด้วยกระบอกปืน นอกจากนี้ยังมี Jason คนหนุ่มชาวคริสต์ ผู้ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโมโรในพื้นที่ อดีตที่ผ่านมา Jason สูญเสียบาทหลวงผู้ซึ่งเลี้ยงดูเขาจากการถูกลอบสังหารโดยกลุ่มติดอาวุธ MILF และหญิงอุ้มครรภ์ ซึ่งตัวเธอเป็นชาวคริสต์แต่มีสามีเป็นชาวมุสลิมโมโร ภาพลักษณะแบบนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างศาสนาในพื้นที่ดังกล่าวได้ค่อนข้างชัดเจน เป็นความสัมพันธ์ที่ซ้อนทับและเชื่อมโยงกันอยู่ ไม่อาจแยกออกเป็นส่วนๆได้ว่า เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม สำหรับพวกเขาแล้วความรุนแรงบนเกาะมินดาเนาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานมาหลายทศวรรษ เป็นปัญหาที่ไม่ได้รังควานแต่ชาวมุสลิมโมโรเท่านั้น แต่มันยังเหมารวมชาวคริสต์ในพื้นที่อีกด้วย เราจะพบว่าในพื้นที่ความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนานั้น ภาคประชาสังคมถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเป็นกลไกหนึ่งเพื่อลดความขัดแย้งในระดับประชาชน มีการรวมกลุ่มกันของผู้คนต่างศาสนา ทั้งในระดับผู้นำศาสนา ระดับชุมชน และประชาชน กระบวนต่างๆเหล่านี้ เรามักจะไม่ได้ยินเสียงของพวกเขาบนหน้าสื่อสักเท่าไหร่


นอกจากนี้ การฉายภาพของกลุ่มพลเรือนติดอาวุธ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Ilagas ที่ก่อตั้งโดยกองทัพเพื่อจุดประสงค์ในการช่วยทหารรักษาความปลอดภัยบุกเผาบ้านเรือนของชาวมุสลิมในฉากแรกเริ่มของภาพยนตร์ เผยให้เห็นว่าปัญหาเรื่องกลุ่มพลเรือนติดอาวุธ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่กลายเป็นอุปสรรคในการสร้างความปรองดองในระดับพลเรือน ผู้สันทัดกรณีเรื่องความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนาจำนวนมากลงความเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการติดอาวุธให้กับพลเรือน เพราะนั่นนำมาซึ่งภาวะของการไร้ความสามารถในการควบคุมการใช้ความรุนแรง ในหลายพื้นที่บนเกาะมินดาเนา ความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมร้าวลึก ก็เพราะปัญหาเรื่องกลุ่ม Ilagas นี่เอง

พื้นที่เพื่อลดความขัดแย้ง


บทเรียนแห่งความรุนแรงที่ Bagong Buwan พยายามที่จะสื่อสารกับผู้ชมนั้น ที่สุดแล้วเป็นความพยายามเรียกร้อง เพื่อลดความขัดแย้งอย่างยั่งยืน ในแง่ของการทำหน้าเป็นสื่อกลางเพื่อสร้างความเข้าใจอันดี และลดข้อขัดแย้งระหว่างคนในชาติ ซึ่งจริงๆแล้วสารที่สื่อสามารถส่งผ่านไปสู่พื้นที่ความความขัดแย้งอื่นๆบนโลกใบนี้ได้เป็นอย่างดี


จันทร์ดวงใหม่ ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan เป็นตัวแทนของการเริ่มต้น ช่วงเวลาใหม่ของเดือน เดือนที่คาดหวังว่าสันติภาพจะกลับมาสู่ดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง เพราะ “ภาวะสงครามไม่มีใครเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ทุกคนต่างสูญเสีย แต่ผู้ที่ใฝ่ฝันถึงสันติภาพเท่านั้นจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะนั้นไป”


---------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
1 เป็นผู้กำกับคนเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง Jose Rizal ภาพยนตร์เชิดชูวีรกรรมของ Jose Rizal วีรบุรุษคนสำคัญของชาติ

2 Moro เป็นคำเรียกขานชาวมุสลิมบนเกาะมินดาเนา ซึ่งครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม คำว่า Moro เดิมทีเป็นคำเรียกที่ชาวสเปนใช้เรียกชาวมัวร์ (Moor) ชาวมุสลิมที่อยู่ทางใต้ของประเทศสเปน เมื่อครั้งสเปนยึดครองฟิลิปปินส์ สเปนใช้คำนี้เรียกขานชาวมุสลิมที่อยู่ทางใต้เพื่อแบ่งแยกระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิม

ที่มา : http://www.thaiworld.org/th/thailand_monitor/answer.php?question_id=920


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น